ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กำลังถูกมองว่าเป็นเมืองหลวงยาเสพติด หลังจากพบว่ามีผู้คุมประพฤติคดียาเสพติด ล่าสุดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 สูงที่สุด 119,563 คน โดยเฉพาะอุดรธานีมีสูงถึง 12,814 ราย โดยคนเหล่านี้เลือกที่จะถูกดำเนินคดี มากกว่าการนำไปบำบัดรักษา ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ ก่อเหตุรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด เกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่ละวัน
เมื่อเช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี ถ.มิตรภาพ ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี รถผู้ป่วยฉุกเฉิน รพ.สมเด็จพระยุพราช อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ได้นำนายสันต์ นามสมมุติ อายุ 27 ปี ชาว ต.วังทอง อ.บ้านดุง ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด อาระวาดทำร้ายบุพการี และทรัพย์สิน มาส่งเพื่อทำการบำบัดรักษา หลังจาก รพ.สมเด็จพระยุพราช ได้ดูแลต่อเนื่องมา 2 วันจนอาการสงบ โดยมีนางบุญ และนายสม นามสมมุติ อายุ 58 และ60 ปี พ่อแม่เดินทางตามมาดูบุตรชายด้วยความเป็นห่วง
นางบุญ อายุ 58 ปี แม่ของนายสันต์ฯ ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด เล่าว่า มีลูก 2 คน คนโตไปมีครอบครัวแล้ว ส่วนนายสันต์ฯเป็นคนเล็ก เรียกจบ ปวช.ช่างไฟฟ้า ตั้งแต่จบมาก็ไม่ทำงาน อยู่บ้านเฉยๆเที่ยวเล่นไปวันๆ ไปเสพยาตอนไหนก็ไม่รู้ พอมารู้ภายหลังก็ห้ามไม่ฟัง เคยเข้ารับการบำบัดใน “ค่ายวิวัฒน์พลเมือง” 4 เดือน กลับมาบ้านเดือนเดียวก็ไปเสพยาอีก 1-2 ปีที่ผ่านมารุนแรงขึ้นมาก อาระวาดทำลายทรัพย์สิน จนถึงกับทำร้ายพ่อแม่ ทำให้ต้องหนีไปนอนบ้านญาติ บางครั้งมานอนที่สถานีตำรวจ ลูกเลิกอาระว่าดก็กลับบ้าน
“ ล่าสุดอาระวาดทุบรถเสียหาย จนเป็นข่าวออกโทรทัศน์หลายช่อง ก็ขอให้ตำรวจและกู้ภัยที่บ้านดุง นำส่ง รพ.สมเด็จพระยุพราชฯ เขาต้องจับมัดไว้กับเตียง บำบัดรักษาเบื้องต้นอยู่ 2 วัน อาการก็ลด ลงตามลำดับ ญาติและคนรู้จักแนะว่า น่าจะต้องส่งไปบำบัดที่ รพ.จิตเวช จ.เลย แต่ รพ.สมเด็จพระยุพราช บอกว่าจะส่งมาที่ รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี ที่เราไม่รู้มาก่อน เมื่อมาเห็นก็พอใจ เชื่อว่าจะบำบัดลูกได้ดี ” แม่กล่าวไปพร้อมกับมีน้ำตาคลอ
นายแพทย์ธิติ อึ้งอารีย์ ผอ.รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี ที่เป็นแพทย์ตรวจรักษานายสันต์ฯ เปิดเผยว่า รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี เป็น รพ.บำบัดรักษาผู้ป่วยติดเหล้า-เบียร์-บุหรี่-ยาเสพติด แต่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วย “ยาเสพติด” ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาที่ รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี จะต้องสมัครใจเข้ามารักษา ทุกคนที่เข้ามาบำบัดรักษา จะต้องใช้เวลาต่อเนื่องราว 4 เดือน มีขั้นตอนบำบัดมาตรฐาน หลังจากมีการประเมินผู้ป่วย รับการบำบัดด้วยยา ตลอดจนการเฝ้าระวัง ไปจนการบำบัดสมบูรณ์ บางคนอาจจะไม่ใช้เวลาถึง 4 เดือน และที่ผ่านมา 1 ใน 3 จะกลับไปเสพยาอีก
“ รพ.มีอาคารตรวจรักษา อาคารที่พักผู้ป่วยแยกชาย-หญิง อาคารฝึกอาชีพ สนามกีฬา และพื้นที่นันทนาการ มี รปภ.ตลอด 24 ชม. เดิมรับผู้ป่วยเฉพาะผู้ชาย ปัจจุบันรับผู้ป่วยชาย 90 คน หญิง 30 คน รวม 120 คน ทุกคนรัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งค่ารักษา ที่พัก อาหาร เสื้อผ้า ตลอดจนการการฝึกอาชีพ ทำอาหาร , เสริมสวย , ตัดผม อื่น ๆ วันนี้มีผู้ป่วยอยู่ 110 คน ที่เหลืออยู่เป็นเตียงผู้ป่วยหญิง มีทั้งถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลชุมชน และการติดต่อเข้ารับการรักษาของญาติ และตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งสามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่ รพ. หรือโทรศัพท์ 042-295760 ต่อ 105 และ 086-2599313 ”…