วาระแห่งชาติแก้ไขขยะล้นเมือง โรงไฟฟ้าขยะอุดรสะดุดทั้ง 4 ศูนย์ นครอุดรฯสร้างเสร็จรอ กกพ.อนุมัติขายไฟฟ้า อบต.เชียงหวางยังไม่สร้างรอ กกพ.อนุมัติขายไฟฟ้า ทต.กงพานพันดอน รอขั้นตอน 5 อบต.บ้านยา รอขั้นตอน 4 ไม่มีการประชุมมากว่าปีเศษ ขณะเตาเผาขยะชุมชนมีปัญหามลพิษ
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุม คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย จ.อุดรธานี มีนายสามารถ หมั่นนอก ปลัด จ.อุดรธานี นายสาจิต จันทรศิริ ท้องถิ่น จ.อุดรธานี นำคณะกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้รับผิดชอบ 4 ศูนย์กำจัดขยะอุดรธานี
ในที่ประชุมหน่วยงานหลักรายงานว่า อุดรธานีมีปริมาณขยะรวม 960.25 ตัน/ปี มีบ่อขยะรวม 64 แห่ง เป็นบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 62 แห่ง จะต้องถูกปิดลงในอนาคต และถูกต้องตามหลักวิชาการ 2 แห่ง คือ ศูนย์จัดการขยะ ทน.อุดรธานี ที่มีปัญหาชาวบ้านร้องเรียนถนน-กลิ่น-น้ำเสีย และต่อใบอนุญาตขอใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ “โคกหนองหาด” ต.หนองนาคำ อ.เมือง และบ่อขยะ ทม.บ้านดุง อ.บ้านดุง ที่มีปัญหาบ่อฝังกลบขยะเต็ม ขณะการบริหารจัดการขยะ 4 ศูนย์ หรือ คลัสเตอร์ ก็ยังมีอุปสรรคประกอบด้วย
ศูนย์ฯที่ 1 ทน.อุดรธานี ในที่สาธารณประโยชน์ “โคกหนองหาด” เดิมจัดการแบบฝังกลบ ปัจจุบันร่วมลงทุนกับภาคเอกชนมี อปท.50 แห่งขนขยะมากำจัดวันละ 350 ตัน/วัน มีกระบวนการจัดการเป็น 3 ส่วนๆแรก 1.ระบบแยกขยะทำเป็นแท่งพลังงาน-ขยะอินทรีย์-อื่น ๆ , 2.การนำขยะพลาสติกไปผลิตน้ำมัน (ไพรโดไรซีด) อยู่ระหว่างตรวจสอบระบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย.67 และ 3.โรงไฟฟ้า(ขยะ) ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่คณะกรรมการกิจการพลังงาน ยังไม่อนุมัติให้ขายไฟฟ้าให้ กฟภ.
ศูนย์ที่ 2 ทต.กงพานพันดอน อ.กุมปวาปี รับผิดชอบดูแล 43 อปท. ปริมาณขยะ 149 ตัน/วัน เสนอแผนการตั้งโรงไฟฟ้า ด้วยการนำขยะสดไปเผา นำพลังงานมาปั่นกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นรับเดียวกันที่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 5 เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลาง จาก 11 ขั้นตอน โดยเสนอให้พิจารณามากว่า 1 ปีเศษ แต่ คกก.กลาง ยังไม่เคยประชุม ทั้งนี้มีเป้าหมายดำเนินการได้ ปี 68-70
ศูนย์ที่ 3 อบต.บ้านยา อ.หนองหาน รับผิดชอบดูแล 26 อปท. ปริมาณขยะ 108 ตัน/วัน เสนอแผนการตั้งโรงไฟฟ้า ด้วยการนำขยะสดไปเผา นำพลังงานมาปั่นกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นรับเดียวกันที่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 รอการพิจารรณาของคณะกรรมการกลั่นกรองระดับกรม ซึ่งขั้นตอนนี้ก็นำเสนอให้พิจารณามากกว่า 1 ปีเศษ ก็ยังไม่มีการประชุมพิจารณา ทำให้คาดว่าจะดำเนินการได้ราวปี 70
ศูนย์ที่ 4 อบต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ รับผิดชอบดูแล 61 อปท. ปริมาณขยะ 255.7 ตัน/วัน เสนอแผนการตั้งโรงไฟฟ้า ด้วยการนำขยะสดไปเผา นำพลังงานมาปั่นกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นรับเดียวกันที่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กกพ. ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ ซึ่งก็ตกค้างมานานแรมปี โดยโครงการนี้ได้ขอปรับแก้แผนงาน และผังโครงการ จากที่ภาครัฐปรับปรุงระเบียบ และการตรวจพบวัตถุโบราณ (ลานช้าง)
ขณะที่ประชุมได้รายงาน การตรวจสอบเตาเผาขยะชุมชน 2 แห่ง ของ ทต.หนองหญ้าไซ อ.วังสามหมอ กับ อบต.บ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ มีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อน การกลิ่น-ควัน-อื่น ๆ หลายหน่วยงานร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าเตาเผาขยะมีขนาดไม่เกิน 1 ตัน/วัน ไม่เข้าข่ายตรวจวัดมลพิษ (ค่าตรวจแพง) ตลอดจนไม่มีการแจ้งให้ คกก.จัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย จ.อุดรธานี พิจารณา , ให้คำแนะนำ หรือรับทราบ
เตาเผาขยะของ ทต.หนองหญ้าไซ อ.วังสามหมอ เป็นเตาเผาขยะขนาด 1 ตัน/วัน มีการแยกขยะก่อนเผา โดยเผาขยะเฉลี่ยวันละ 2.5 ตัน หรือเกินกว่าประสิทธิภาพเตา และมีอุณหภูมิสูงสุดขณะตรวจ 150 องศาฯ (จะต้องสูงกว่า 700 องศา) น่าจะทำให้เกิดควันและกลิ่น รวมไปถึงสาร “ไดออกซิน” สนง.สวล.ภาค 9 พิจารณาแล้วแจ้งให้ เตาเผาขยะของ ทต.หนองหญ้าไซ เป็นแหล่งทำให้เกิดมลพิษ ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจวัดมลพิษ
สำหรับ อบต.บ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ เป็นเตาเผาขยะขนาด 1 ตัน/วัน จำนวน 2 เตา ไม่มีการแยกขยะก่อนเผา โดยเผาขยะเฉลี่ยวันละ 4 ตัน หรือเกินกว่าประสิทธิภาพเตา และเตาเผาขยะยังไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ (จะต้องสูงกว่า 700 องศา) น่าจะทำให้เกิดควันและกลิ่น รวมไปถึงสาร “ไดออกซิน” สนง.สวล.ภาค 9 พิจารณาแล้วแจ้งให้ เตาเผาขยะของ ทต.หนองหญ้าไซ เป็นแหล่งทำให้เกิดมลพิศ ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจวัดมลพิษ
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาศูนย์จัดการขยะ ทม.บ้านดุง ที่บ่อฝังกลบขยะเต็มแล้ว ทำให้ ทม.บ้านดุง มีขยะตกค้างสะสมมากขึ้น ต้องยกคันดินรอบบ่อให้สูงขึ้น และยังไม่แล้วเสร็จ และมีโครงการจะขายขยะที่ตกค้างออก 16,100 ตัน เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดราคากลาง จากการสอบราคาจากพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในอนาคตบ่อขยะ ทม.บ้านดุง จะปรับเป็นสถานที่รวมขยะ เพื่อส่งไปยัง ศูนย์ฯที่ 4 อบต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ
และแก้ไขปัญหาบ่อขยะของ อบต.หายโศก อ.บ้านผือ ที่บ่อขยะที่ 4 หรือบ่อล่าสุดมีสภาพเต็ม จำเป็นต้องปิดบ่อขยะแห่งนี้ และไม่สามารถหาบ่อขยะใหม่ในพื้นที่ตนเองได้ ขณะแผนจัดการขยะระยะยาว อยู่ในศูนย์ฯที่ 4 อบต.เชียงหวาง จึงต้องหาสถานที่กำจัดขยะชั่วคราว ระหว่างรอศูนย์ขยะที่ 4 โดยคัดเลือกไปทิ้งที่ศูนย์ขยะ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งมีระยะทางใกล้กว่าศูนย์ฯที่ 1 ทน.อุดรธานี แม้ค่ากำจัดจะตันละ 500 บาท ส่วน ทน.อุดรธานี ตันละ 350 บาท ที่ประชุมขอให้พิจารณาให้ชัดเจน เพราะการทิ้งขยะข้ามเขตจะต้องขออนุญาตส่วนกลาง
นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รอง ผวจ.อุดรธานี สรุปผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีความเห็น 1.ให้ทำบันทึกสอบถามความคืบหน้า กรณีที่ศูนย์ฯที่ 2-3-4 ได้ส่งเรื่องให้พิจารณาตามขั้นตอน แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามานานกว่า 1 ปีแล้ว เพื่อดำเนินการตามแผนงานให้ต่อเนื่อง , 2.ให้ ทน.อุดรธานี ติดตามความคืบหน้าการขอต่ออายุการใช้งานที่ดินสาธารณะประโยชน์ “โคกหนองหาด” และเร่งรัดการแก้ไขความเดือดร้อน ประชาชนโดยรอบพื้นที่ศูนย์ฯ พร้อมกันนี้ให้พิจารณาแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการการแก้ไขในพื้นที่จังหวัดก่อน และแจ้งให้ อปท.ที่จัดทำโครงการเตาเผาขยะ ให้หารือขอคำแนะนำจาก คกก.ฯ ก่อน…..