“อีกัวน่า” กิ้งก่ายักษ์ต่างถิ่น คนแอบมาปล่อยในคำชะโนด จนออกลูกแพร่พันธุ์แล้ว เกรงจะกระทบกับระบบนิเวศน์ นอภ.ขอความร่วมมือ “อนุรักษ์10” ส่งทีมมาสำรวจพื้นที่ ลงมือจับวันแรกได้ 3 ตัว
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่วังนาคินทร์คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี นายสุชาติ ทอนมณี นายอำเภอบ้านดุง ร่วมกับนายสมบัติ สุภศร ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 (อุดรธานี) นายฤทธิรงค์ อรุณเดชาวัฒน์ หน.สวนรุกขชาติบ้านดุง นายประสิทธิ์ พุทธบูชา หน.ด่านตรวจสัตว์ป่าหนองคาย นายอภิชา โคตรรัตน์ หน.ศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่จับตัวสัตว์ต่างถิ่น “อีกัวน่าเขียว” ในพื้นที่ป่าคำชะโนด และสามารถจับได้ 3 ตัว ขนาดยาว 50 ซม. 2 ตัว และ 20 ซม. 1 ตัว
นายสุชาติ ทอนมณี นายอำเภอบ้านดุง เปิดเผยว่า 3 เดือนก่อนได้รับรายงานจากคณะกรรมการบริการคำชะโนด พบเห็นตัว “อีกัวน่า” สัตว์สายพันธุ์จากต่างประเทศ เข้ามาอาศัยอยู่อาศัยในป่าคำชะโนด เชื่อว่าน่าจะมีชาวบ้านเอามาปล่อย เกรงว่าจะส่งกระทบกับระบบนิเวศน์ จึงหารือไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 (อุดรธานี) และส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่สำราจ ระหว่างนั้นได้ทำความเข้าใจกับพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อต่าง ๆ
“ วันนี้ได้นัดหมายลงพื้นที่ ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารคำชะโนด ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการกระจายพันธุ์ การรบกวนระบบนิเวศน์ และแหล่งอาหารทางธรรมชาติ ตลอดจนพืชผลทางการเกษตร ของเจ้าตัวอีกัวน่าเขียว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ให้นำอีกัวน่าเขียวในป่าคำชะโนด ออกจากบริเวณพื้นที่โดยด่วน ก่อนเข้าปฏิบัติการณ์ ผมได้บอกกล่าวเจ้าปู่ศรีสุทโธ เจ้าย่าศรีปทุมมาแล้ว ”
นายสมบัติ สุภศร ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 (อุดรธานี) เปิดเผยว่า ได้รับประสานกับนายอำเภอ และพื้นที่สำรวจมาราว 3 เดือน เก็บข้อมูลจากคณะกรรมการฯ จัดทำแผนที่จุดที่พบอีกัวน่า พบว่ามีอีกัวน่าวัยเจริญพันธุ์ราว 10 ตัว ขนาดใหญ่สุดยาวราว 70-80 ซม. และรับแจ้งจากผู้ดูแลว่า พบมีลูกของอีกัวน่าด้วย ก็น่าจะมีการแพร่พันธุ์แล้ว
“ หากมีการแพร่พันธุ์จริง จะสามารถวางไข่ครั้งละ 50-70 ฟอง ในรอบ 3-4 เดือน เมื่ออาหารในพื้นที่ไม่พอ จะขยายออกไปพื้นที่เกษตรรอบ ๆ วันนี้ได้ใช้อุปกรณ์จับอีกัวน่า เป็นบ่วงคล้อง และสวิงยาว ได้มาเบื้องต้นรวม 3 ตัว พรุ่งนี้จะเข้าปฏิบัติการณ์อีก ด้วยการใช้เจ้าหน้าที่ชุดเดิม เมื่อจับได้จะส่งตัวอีกัวน่า ไปอยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ อ.สังคม จ.หนองคาย หลังจากนั้นจะต้องรวบรวมข้อมูล สรุปเพื่อเตรียมแผนดำเนินการต่อไป ”