เห็นตำตาต้นเหตุน้ำท่วมนครอุดร เป็นงานปรับปรุงห้วยหมากแข้ง ปิดกั้นทางน้ำไว้แล้วเอาออกไม่หมด 5 จุด เหมือนกันที่สื่อมวลชนชี้จุดไปแล้ว
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 นายพรเทพ ศรีวรานันท์ โยธาธิการและผังเมืองอุดรธานี นายอรรณพ วังสานุวัตร ผอ.ส่วนช่างสุขาภิบาล ทน.อุดรธานี พร้อมกับผู้รับจ้างพัฒนาโครงการ “ก่อสร้างระบบระบายน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์ ห้วยหมากแข้ง” ระยะทาง 936 ม. วงเงิน 148.4 ล้าน ร่วมตรวจสอบหาสาเหตุ “น้ำท่วมเมืองอุดรธานี” ระหว่างเวลา 17.00-22.00 น. วันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งที่ฝนตกลงมาวัดได้ที่สถานีตรวจอากาศอุดรธานี 6.7 มม. และที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี 63 มม.
ตรวจสอบจุดแรกที่ ทางโค้งห้วยหมากแข้ง หน้าร้านแหนมเนือง ใกล้กับ สนง.ทน.อุดรธานี ซึ่งเป็น 2 ใน 5 จุด ที่ผู้รับจ้างปิดกั้นทางน้ำเพื่อทำงาน และมีแผนจะเปิดออก หากปริมาณน้ำในลำห้วยสูงเกินกำหนด เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดี ตามประสิทธิภาพระบายน้ำเดิม แต่กลับพบว่าบริเวณพื้นผิวน้ำ มีลักษณะน้ำไหลผ่านจะกระโดดลง ซึ่งน่าจะมีสิ่งกีดขวางใต้น้ำ ทน.อุดรธานี จึงขอตรวจสอบบริเวณก้นห้วยหมากแข้ง ด้วยการนำรถแบ็คโฮของ ทน.อุดรธานี ชนิดแขนยาวมาค้นหา สิ่งกีดขวางอยู่ก้นลำห้วย
จุดที่ตรวจสอบเรียกว่าจุดที่ 4 และ 5 ตรงข้ามร้านแหนมเนือง ซึ่งทั้งสองจุดอยู่ห่างกัน 10-15 เมตร ทันที่ที่รถแบ็คโฮทำงาน ภาพที่ปรากฏให้เห็นคือ “มีเศษวัสดุก่อสร้าง-ดิน-หิน” อยู่บริเวณก้นห้วยจริง เมื่อเครื่องจักรตักวัสดุใต้น้ำขึ้น ก็จะเห็นภาพความแตกต่าง ของระดับน้ำห่างกันกว่า 1 เมตร จึงสั่งให้ขุดลอกวัสดุจุดนั้นออก ทั้ง 2 จุดนี้ใช้เวลาราว 6 ชม. สามารถตักเอาดิน และเศษวัสดุก่อสร้าง ออกมาได้เกือบทั้งหมด ที่เหลือเกิดจากข้อจำกัดเครื่องจักร
จุดที่ 3 ห่างจากจุดที่ 4 และ 5 ราย 200 เมตร ผู้รับจ้างได้นำเอาท่อระบายน้ำขนาด 120 ซม. ไปวางไว้ในลำห้วย 4 แถว แล้วใช้ดินกลบเพื่อข้ามไปทำงาน แต่กระแสของน้ำในลำห้วย ทำให้พัดทางข้ามเสียหายกว่า 70 % ทน.อุดรธานี ได้ย้ายรถแบ็คโฮมาที่จุดดังกล่าว เพื่อย้ายท่อระบายน้ำออกากลำห้วย ซึ่งสามารถย้ายได้เพียง 2 แถว จะมีการดำเนินการต่อในวันต่อไป
ส่วนจุดที่ 1 บริเวณต้นโครงการ ใกล้สะพานถนนประจักษ์ศิลปาคม และจุดที่ 2 บริเวณท้ายซอยกิจขยัน 3 มีการปิดกั้นลำห้วยไว้ แล้วก็ถูกกระแสน้ำพัดพัง ยังมีเศษดินและเศษวัสดุก่อสร้างตกค้างอยู่มากกว่าครึ่ง ผู้รับจ้างได้นำเครื่องจักรเข้าดำเนินการรื้อถอนออกได้เพียง 1 จุด และจะดำเนินการต่อในวันต่อไป โดย ทน.อุดรธานี แจ้งให้โยธาฯพิจารณา ไม่ให้มีการปิดกั้นลำห้วยอีก เพราะการปิดกั้นที่ผ่านมา ผู้รับจ้างเคยสัญญาว่าจะเอาออกทันที หากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า “ลำห้วยหมากแข้ง” เป็น 1 ใน 3 ลำห้วย ระบายน้ำออกจากพื้นที่ ทน.อุดรธานี มีขีดความสามารถสูงสุดระบายน้ำได้ 120 ลบม./วินาที (ข้อมูลจาก สนง.ชลประทาน จ.อุดรธานี) ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงสุด ขณะก่อสร้างระบบระบายน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์ ห้วยหมากแข้ง มีการก่อสร้าง ปรับปรุงห้วยหมากแข้ง ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลง จนส่งผลให้เกิดน้ำทั่วหนักในวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่สถานีสูบน้ำ ทน.อุดรธานี แบ่งเป็น 2 ลักษณะ 1. สูบจากพื้นที่ลุ่มต่ำไปลงทำห้วยฯ และ 2.สูบระบายน้ำออกนอกเมือง เครื่องสูบน้ำเกือบทั้งหมดใช้งานมากว่า 20 ปี ยกเว้นเครื่องสูบน้ำในพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ก่อสร้างเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา , เครื่องสูบน้ำอุโมงค์น้ำใต้ดินตลาดหนองบัว ติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการตรวจรับมอบงาน นอกจากนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อ เครื่องสูบน้ำเพื่อไปเปลี่ยนที่สถานีหน้า “วีที.แหนมเนือง และสถานีตรงข้าม สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี คาดว่าจะไม่ทันในฤดูฝนนี้….