วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมรฟท.ไม่แก้“ทางพาดบ้านจั่น”เอกชนอุดรจะฟ้อง

รฟท.ไม่แก้“ทางพาดบ้านจั่น”เอกชนอุดรจะฟ้อง

อุดรฯเปิดเวทีถกค้าน “ทางพาดรถไฟบ้านจั่น” รถไฟทางคู่อยู่บนดิน รถไฟความเร็วสูงลอยข้าม รถไฟกระต่ายขาเดียวใช้รูปแบบเดิม แม้เอกชนอ้างมีข้อจำกัดมาก ทำให้เกิดจุดตายอุดรธานี รถผ่านวันละ 3 หมื่น แต่ทางรองเหลือเลนเดียว ถ้าไม่แก้ไขขอพึ่งศาลปกครอง รอง ผวจ.นัดคุยอีกรอบหลังสงกรานต์

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมชี้แจงแผนการดำเนินการ และแนวทางการแก้ไขปัญหาก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย โดยนายณัฐพงษ์ คำวงษ์ปิน หน.สนง.จังหวัดอุดรธานี เชิญผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย , กรมทางหลวง และภาคเอกชนอุดรธานี ที่คัดค้านรูปแบบทางพาดรถไฟ จุดตัดทางหลวง 216 หรือทางพาดรถไฟบ้านจั่น อ.เมือง อุดรธานี

นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ความเห็นแย้งของภาคเอกชน รูปแบบจุดตัดทางพาดรถไฟบ้านจั่น ในโครงการรถไฟทางคู่ ที่เสนอผ่าน คกก.ร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) อุดรธานี ทั้งความเห็นแย้ง ข้อเสนอ ตลอดจนคำชี้แจง ส่งผ่านกันในรูปแบบเอกสาร ซึ่งมีลักษณะเป็น “คู่ขนาน” ยังไม่มีข้อยุติลงได้ ผวจ.อุดรธานี จึงเห็นควรเชิญการรถไฟ กรมทางหลวง และภาคเอกชน มาพูดคุยกันถึงเหตุผล และเพื่อหาทางออกด้วยสันติ โดยจะขอคุยกันเฉพาะเรื่องนี้ก่อน เพื่อนำเข้าที่ประชุม กรอ.อุดรธานี

นายณัฐพงษ์ คำวงษ์ปิน หน.สนง.จังหวัดอุดรธานี รายงานว่า นอกจาก กรอ.อุดรธานี ยังมีสภา อบจ.อุดรธานี สภา ทน.อุดรธานี และเวทีประชาคมเมือง ต้องการให้ยกทางรถไฟทั้ง 2 สายข้ามเมือง ในส่วน กรอ.อุดรธานี ได้รับคำตอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย 2 ครั้ง ว่ายังคงยืนยันคงรูปแบบเดิม และทาง กรอ.อุดรธานี ก็ยังมีความเห็นยืนยันขอให้แก้ไข เมื่อมีการพูดคุยนอกรอบแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณา กรอ.อุดรธานี มีมติอย่างไรก็จะดำเนินการตามนั้น

นายวิชัย วัฒนศรีมงคล วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางขอนแก่น หน.คณะผู้แทนการรถไฟฯ กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย อยู่ในขั้นตอนเตรียมนำเสนอ ครม. แต่ก็มาติดเรื่องที่มีการคัดค้าน ซึ่งการรถไฟก็ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว พบว่าหากมีการทบทวนแก้ไขรูปแบบ โครงการจะล่าช้าการพัฒนาในภาพรวม จากการทำ อีไอเอ.ในส่วนปรับรูปแบบ การจัดของบประมาณเพิ่ม (2,000 ล้านบาท) และยังกระทบไปถึง “มหกรรมพืชสวนโลก” ขณะที่กรมทางหลวงได้ศึกษาออกแบบทางต่างระดับไว้แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาไว้แล้ว

ขณะเดียวกันที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ และคลังสินค้าปูน ทีพีไอ. จก.(มหาชน) ชี้แจงว่า โครงการนี้ผ่านการศึกษาความเหมาะสม และรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ที่รถไฟทางคู่ต้องอยู่พื้นราบเดิม เพื่อส่งปูนซีเมนต์ให้กับ บ.ทีพีไอ.โพลิน จก.(มหาชน) ที่ดำเนินการมามากกว่า 10 ปีแล้ว เพื่อส่งปูนซีเมนต์ต่อไปในภาคอีสานตอนบน และ สปป.ลาว หากไม่มีระบบขนส่งทางราง จะต้องทำการขนส่งด้วยรถบรรทุก มากกว่าวันละ 500 เที่ยว

นายอเนก สุวรรณภูเต รอง ผอ.สำนักทางหลวงที่ 7 กล่าวว่า ที่ปรึกษาออกแบบทางต่างระดับ “แยกบ้านจั่น” ได้ส่งงานในช่วงสุดท้าย อยู่ระหว่างการพิจารณา “อีไอเอ.” โดยออกแบบตามข้อจำกัด หรือออกแบบตามแบบการรถไฟ ที่รถไฟทางคู่อยู่ระดับพื้นเดิม และออกแบบ(ร่าง)รูปแบบยกรถไฟทางคู่ข้าม รวมทั้งพร้อมออกแบบรายละเอียด หากรถไฟตัดสินใจเปลี่ยนแปลง เพื่อนำเสนอของบประมาณ 2,700 ล้านบาท ก่อสร้างทางต่างระดับจุดนี้

พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี กล่าวว่า โครงการนี้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2558 เราก็ให้ความเห็นว่า “ให้สร้างยกระดับข้ามเมืองทั้งหมด” จนกระทั่งปีเศษที่ผ่านมา กรมทางหลวงว่าจ้างที่ปรึกษา ออกแบบทางต่างระดับแยกบ้านจั่น ซึ่งครอบคลุมทางพาดรถไฟบ้านจั่น จึงรู้ว่ารถไฟทางคู่อยู่ระดับเดิม ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะยกข้าม เมื่อคุยหลายฝ่ายเห็นปัญหามาก น่าจะแก้ได้ด้วยการให้ รถไฟทั้ง 2 รูปแบบ ยกข้ามเมืองไปทั้งหมด หรือหาทางแก้ไขจุดส่งปูนของ “ทีพีไอ.” ร่วมกัน

นายชัยฤทธิ์ เขาวงษ์ทอง หรือทนายแม็ก อดีต สท.นครอุดรธานี และอดีต ส.อบจ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มา 1 ปีเศษ หลายองค์กรที่อุดรฯต้องการแก้ไข หากรถไฟยอมมาคุยและแก้ไข เรื่องนี้ก็น่าจะยุติไปแล้ว ที่ไม่เห็นด้วยเพราะมันมี “สองรูหนูรอดทางรถไฟ” สำหรับรถขนาดเล็ก ที่นครราชสีมาก็เกิดน้ำท่วม , มี “จุดตายเมืองอุดรธานี” เพราะรถที่ผ่านทางพาดรถไฟบ้านจั่น วันละ 30,000 คัน และมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ทางต่างระดับทำได้เพียง ทางรองไต่ระดับขึ้นทางต่างระดับ กว้างเพียง 5 เมตร จะเกิดปัญหาทั้งอุบัติเหตุ และสภาพคอขวดขึ้นทางรอง

“ ถ้ายอมแก้ไขยกทางรถไฟข้าม ทางต่างระดับจะลดลงจาก 950 ม. เหลือ 400 ม. ราคาค่าก่อสร้างก็ลดลง ราคาก็จะถูกลงไปได้ และทำให้รถบรรทุก-รถยนต์-จยย.-สามล้อ-จักรยานปั่น ที่มาจาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวา หรือออกจาก ทน.อุดรธานีเลี้ยวซ้าย สามารถลอดใต้ทางรถไฟได้ไม่มีข้อจำกัด จึงขอเสนอทางออกให้รถไฟ ดีไซด์รูปแบบการส่งปูนซีเมนต์ใหม่ รองรับรูปแบบ ”

ผู้สื่อข่าวรายงาน ผู้แทนจากการรถไฟยืนยันในที่ประชุมว่า โครงการนี้การรถไฟออกแบบสมบูรณ์แล้ว และจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการ การแก้ไขปัญหารถยนต์และรถอื่น ๆ มอบหน้าที่ให้กรมทางหลวงศึกษา จึงยืนยันจะคงรูปแบบเดิม และเดินหน้าโครงการต่อไป ทำให้ภาคเอกชนอุดรธานี แจ้งว่าไม่ได้คัดค้านโครงการ แต่ขอให้แก้ไขปัญหาร่วมกัน หากรถไฟยังยืนยันรูปแบบเดิม ภาคเอกชนอุดรธานี และประชาชนอุดรธานี ก็จำเป็นต้องเดินหน้าคัดค้าน รวมทั้งการยืนฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้คลุ้มครองช่วงมีปัญหาไปก่อน

นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวตอนท้ายว่า วันนี้อาจจะยังไม่ได้ข้อยุติ ถือว่าเราประชุมนอกรอบครั้งที่ 1 ให้กลับไปพักจิบกาแฟ หรือชาเขียว ให้สบายใจ เอาข้อมูลที่ได้วันนี้ไปหารือ กับหน่วยงานและองค์กรตัวเองอีกครั้ง หลังสงกรานต์จะขอกลับมาคุยนอกรอบครั้งที่ 2 ว่าจะมีทางออกอะไรกันบ้าง ก่อนที่จะนำผลสรุปเข้าประชุม กรอ.อุดรธานี ….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments