ผู้ว่าฯประชุมด่วนแก้ไฟฟ้าช็อต เหตุไฟฟ้ารั่วลงเสาแบบโลหะ น้ำท่วมรัศมีช็อตอีก 1-2 ม. สรุปซ่อมบำรุงทันที-ติดป้ายแจ้ง/เตือน-ติดตั้งRCDกันไฟรั่ว-แก้ระบบไฟเป็นกระแสตรง หรือไฟจากโซล่าเซลล์
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เชิญประชุมด่วน “นำร่องแก้ไขเหตุไฟฟ้ารั่วช็อตประชาชน” มีนายปราโมทย์ ธัญพืช นายวันชัย จันทร์พร นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิสแล้ว รอง ผวจ.อุดรธานี นายวิจารณ์ คลังบุญครอง ผช.ผจก.การฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 อุดรธานี นำหน่วยที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจาก ทน.อุดรธานี , ทม.หนองสำโรง , ทต.บ้านจั่น และ ทต.หนองบัว เข้าร่วมประชุม
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า จากเหตุฝนตกน้ำท่วมถนน-ฟุตบาท ไฟฟ้ารั่วไปช็อตเด็กนักเรียนพร้อมกัน 5 ราย ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้จะโชคดีที่เกิดกลางวัน ขณะที่มีคนเดินทางพลุกพล่าน และมีผู้ประสพเหตุมาช่วยเหลือ หากเกิดกลางคืนอาจจะมีการสูญเสีย แม้หลายฝ่ายได้เข้าช่วยเหลือและให้กำลังใจ แต่เหตุดังกล่าวก็ถูกตั้งคำถาม ทำให้ประชาชนบางส่วนขาดความเชื่อมั่น เกรงว่าเหตุแบบนี้จะเกิดขึ้นอีก เราจึงต้องมาช่วยกันทำความเชื่อมั่นกลับมา โดยจะเริ่มนำร่องที่ ทน.อุดรธานี และอปท.รอบๆ
นายวิจารณ์ คลังบุญครอง ผช.ผจก.การฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 อุดรธานี กล่าวว่า ไฟฟ้ารั่วจากเสาไฟฟ้าแสงสว่าง(เหล็ก) ไปตามน้ำระยะทางแล้วแต่ระดับ โดยระดับการรั่วมีผลกับมนุษย์ 3 แอมป์ เริ่มมีความรู้สึก และเริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้เมื่อเกิน 5 แอมป์ เสนอการแก้ไขเป็น 3 ระยะ คือ เร่งด่วน-ระยะสั้น-ระยะยาว โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นฯ แก้ไขเสาไฟแสงสว่าง(เหล็ก)ของตนเอง กฟภ.พร้อมให้การสนับสนุนกำลังคน ซึ่งกำหนดแผนเริ่มในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ที่ย่านสถานีรถไฟอุดรธานี-ตลาดหนองบัว
“ ผช.ผจก.การฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 อุดรธานี กล่าวแนะนำว่า การใช้เสาเหล็กติดตั้งไฟแสงสว่าง เคยมีข้อแนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว (RCD) เมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วระบบจะตัดกระแสไฟฟ้า ให้เราหาจุดรั่วและซ่อมแซมก่อน แต่ในแบบมาตรฐานกลางไม่กำหนดไว้ จึงไม่มีหน่วยงานใดนำไปติดตั้ง รวมทั้งในจุดเกิดเหตุครั้งนี้ หรือหากจะไม่ให้เกิดไฟฟ้ารั่ว บางพื้นที่น่าจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือให้ไฟฟ้ากระแสตรงแทน ”
นายดาวเรือง หากันได้ ผอ.สำนักการช่าง ทน.อุดรธานี กล่าวว่า ทน.อุดรธานี มีเสาไฟแสงสว่างมากกว่า 3,000 จุด บางส่วนใช้งานมานาน ขาดการซ่อมบำรุง มีการซ่อมแซมเมื่อชำรุดเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ประสบปัญหา ฝาครอบช่องเซอร์วิสถูกขโมย ช่องเซอร์วิสถูกเปิดขโมยไฟฟ้า หลังเกิดเหตุได้ประชุมเตรียมแผน ซ่อมบำรุงเปลี่ยนสายไฟและอุปกรณ์ , ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว(RCD) เริ่มจากจุดเสี่ยงก่อน นอกนั้นมีแผนระยาวเปลี่ยนสวิชย์ เปลี่ยนระบบไฟแสงสว่าง
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า ให้องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือเจ้าของเสาไฟฟ้าแบบเหล็ก ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ออกตรวจสอบเสาไฟเหล่านั้นทุกจุด เริ่มจากพื้นที่เสี่ยงรอบ สถานศึกษา พื้นที่น้ำท่วมรอการระบายซ้ำซาก , จัดทำป้ายประกาศเสาไฟแสงสว่างทุกต้น แจ้งให้รู้ว่าไฟต้นนี้ตรวจสอบแล้ว พร้อมคำเตือนว่าหากมีฝนตก ให้อยู่ห่างจากเสาไฟ 1-2 เมตร , ให้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว(RCD) เริ่มจากพื้นที่เสี่ยง และหากมีความพร้อมให้ใช้ไฟฟ้าแสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือใช้อุปกรณ์ไฟแสงสว่างใช้ “กระแสไฟฟ้าตรง” ที่ไม่เกิดอันตรายกับมนุษย์ โดยให้เริ่มตั้งแต่บ่ายวันนี้……