ปชส.อุดรธานี จูงมือนักข่าว โฆษกวิทยุ เยี่ยมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่เตรียมเสนอยูเนสโก้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่สืบทอดรักษาวัฒนธรรมสีมา เสมือมี 8 วัดตั้งอยู่ ทำภูพระบาทเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 น.ส.ชาลิสา ชมภูราษฎร์ ผช.ประชาสัมพันธ์ จ.อุดรธานี พร้อมคณะ นำสื่อมวลชน หนังสื่อพิมพ์ โทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี วิทยุ สื่อออนไลน์ และอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน รวมกว่า 30 คน เดินทางมาที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อ.บ้านผือ ติดตามการความคืบหน้า การขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยมีนายวิมล สุรเสน นายอำเภอบ้านผือ นายนภสินธุ์ บุญล้อม หน.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ร่วมทำความเข้าใจความเป็นมา ความสำคัญ ความคาดหวัง ในห้องประชุม ก่อนนำคณะลงพื้นที่จริง และให้ข้อมูลเพิ่มเติม
โดยการนำเสนอข้อมูลแก่สื่อมวลชน ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกตำนานนิทานพื้นบ้าน “อุษา-บารส” ที่มีการผูกเรื่องความรักของสองคน สอดคล้องกับสถานที่บนภูพระบาท ซึ่งเป็นเพิงผาในรูปร่างแปลกตา ซึ่งและสถานที่ถูกตั้งชื่อสอดคลองกัน แต่จะไม่นำเสนอขอเป็นมรดกโลก ส่วนที่สองเฉพาะวัฒนธรรม “สีมา” หรือ “เสมา” ที่จะนำเสนอความสำคัญ เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยเพราะ “เป็นของแท้ดั้งเดิม สืบทอดกันมาต่อเนื่อง ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง”
“วัฒนธรรมสีมา” หรือวัฒนธรรม “ใบเสมา” เคลื่อนมาจากทางภาคกลาง เข้ามาสู่ภาคอีสาน และกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งที่ภาคอีสานตอนบน โดยที่ภูพระบาทพบสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำใบเสมาที่มีการพัฒนา จากหินทรายทรงกลม มาเป็นเหลี่ยมหนา เหลี่ยมบาง จนการสลักเป็นเรื่องราว รวมทั้งมีขนาดแตกต่างกันไป นำมารายล้อมเพิงผาหินไว้ 8 ทิศ ที่ได้รับการสร้างรูปเคารพ ไว้ประกอบพิธีความความเชื่อ เกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 12-16 และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีการนำใบเสมาไปล้อมโบสถ์วิหาร หรือกำหนดเขต
“บนภูพระบาท” มีเพิงผาหินรูปร่างแปลกตา มีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาตร์ มาใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมบางอย่าง เพิงผาหินถูกสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ บางแห่งพบภาพเขียนสี จนเข้ามาสู่ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา มีเพิงผาหินรวม 8 แห่ง มีใบเสมาล้อม 8 ทิศ เปรียบว่ามีวัด 8 แห่งบนภูพระบาท มีวัดใหญ่ที่สุดเป็นศูนย์กลาง เป็นลานประกอบพิธีอยู่บริเวณหน้า “ถ้ำพระ” รายล้อมด้วยใบเสมา 2 ชั้นทั้ง 8 ทิศ น่าจะใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมสำคัญร่วมกันของทุกวัด ซึ่งไม่เคยพบสถานที่ลักษณะมาก่อน อีกทั้งยังคงสภาพดั้งเดิมไว้ เสมือนว่าภูพระบาทคือภูเขาศักดิ์สิทธิ์
นายนภสินธุ์ บุญล้อม หน.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท กล่าวว่า การจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอต่อยูเนสโก้ ขณะนี้ได้จัดทำร่างแล้วเสร็จ ได้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการชุดกระทรวง อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอเข้าคณะกรรมการระดับประเทศ โดยมีแผนเสนอต่อยูเนสโก้ ม.ค.2566 จากนั้นยูเนสโก้นัดหมายมาดูพื้นที่ ก.ย.2566 หากยูเนสโก้มีข้อสงสัย ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม จะต้องขอมาภายใน ธ.ค.2566 หลังจากที่ประเทสไทยตอบกลับไปแล้ว ยูเนสโก้จะจัดให้มีการประชุมใหญ่พิจารณา ก.ค.2567