วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมจี้นครอุดรแก้จ้างมือใหม่ทำฟุตบาทช้า

จี้นครอุดรแก้จ้างมือใหม่ทำฟุตบาทช้า

ผู้ตรวจเขต 10-คกก.ธรรมาภิบาลอุดรฯ ประสานเสียงปรับปรุงฟุตบาท ถ.โพศรี 9.3 ล้าน เลือกผู้รับเหมามือใหม่ กระทบเศรษฐกิจประเมินค่าไม่ได้ แนะ ทน.แรงๆ ให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง และใช้สัญญาจ้างเร่งรัดการแก้ไข สิทธิพิเศษเสียค่าปรับ 0 บาท ดูกระทบโควิด-19 หรือไม่

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี น.ส.ปภัสมน อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 10 เป็นประธานประชุมคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.อุดรธานี โดยมีนายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี เข้าร่วมประชุม และมีนายนวคม เสมา รองประธานธรรมาภิบาล จ.อุดรธานี นำคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.อุดรธานี จากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมการตรวจติดตามโครงการตามแผนงานสอดส่องของคณะกรรมการฯ

นายนวคม เสมา รองประธานธรรมาภิบาล จ.อุดรธานี แจ้งต่อที่ประชุมว่า โครงการก่อสร้างส่งเสริมฟื้นฟูที่ท่องเที่ยวในเมืองถนนโพศรี หรือปรับปรุงฟุตบาท ถ.โพศรี ทน.อุดรธานี ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสื่อออนไลน์ ตนเองพร้อมคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ( 28 มิ.ย.65) พร้อมกับสำนักช่าง ทน.อุดรธานี และ หจก.เอส.พี.เฟอร์นิเจอร์ ผู้รับจ้างด้วยวิธีการ “คัดเลือก” วงเงิน 9,308,300 บาท สัญญา 26 พ.ย.64-24 เม.ย.65 ซึ่งถือว่าหมดสัญญาไปแล้ว แต่ทำงานไปได้เพียง 50 % โดยเข้าข่ายรับผลกระทบโควิด-19 เสียค่าปรับเป็น 0 บาท

“ อุปสรรคสำคัญโครงการนี้เกิดจาก การคัดเลือกผู้รับเหมา ไม่คำนึงถึงผลงาน หรือประวัติการทำงานของผู้รับจ้าง โดยสมควรตามวุฒิภาวะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับใหญ่ , การบริหารจัดการหน้างานไม่เป็นระบบ ขาดการวางแผนงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้งานล่าช้า และทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อประชาชนผู้สัญจรไปมา , คนงานไม่พียงพอ การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง พื้นที่การดำเนินงานอยู่ในเขตชุมชนแออัด , การจัดซื้อจัดจ้างเป็นแบบ “คัดเลือก” ได้ผู้รับจ้างรายใหม่ที่ไม่ปรากฏผลงาน หรือขาดประสบการณ์ ไม่อาจสรุปได้ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ ”

รองประธานธรรมาภิบาล จ.อุดรธานี แจ้งต่อว่า ผู้รับจ้างฯรับสิทธิเรียกค่าปรับไม่ได้ ทั้งที่ล่วงเลยสัญญามากว่า 60 วัน เกิดความเสียหายภาพรวม ทั้งเศรษฐกิจ และความเดือดร้อนประชาชน รวมถึงการเสียโอกาสในการพัฒนา ไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินได้ เกิดภาวะไม่มีกรอบเวลา จากการหารือกับผู้รับจ้าง และ ทน.อุดรธานี ตัวแทนผู้รับจ้างฯรับปาก จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 ก.ค.65 จึงมีข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม หากพ้นกำหนดที่รับปาก ทน.อุดรธานี ควรดำเนินมาตรการทางกฎหมาย หรือมาตรการอื่น เพื่อป้องกันความเสียหาย และรักษาผลประโยชน์ประชาชน

ทีมช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง ทน.อุดรธานี ชี้แจงว่า ตามสัญญาจ้างและแผนการทำงาน แบ่งเป็น 5 งวดๆละ 250 เมตร รวม 1,250 เมตร คือดำเนินการคราวละ 250 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจึงขยับพื้นที่ดำเนินการ แต่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตาม ได้ทำการทุบพื้นที่ทางเท้าเดิมทั้งหมด อีกทั้งไม่จัดการความปลอดภัย ไม่มีการสร้างแนวกั้น , ป้าย-ไฟสัญญาณ และการย้ายเศษวัสดุ ผู้ควบคุมงานได้ขอให้แก้ไข แต่ผู้รับจ้างยังดำเนินการต่อ จึงมีคำสั่งระงับการทำงาน แต่ยังคงทุบฟุตบาทเดิมออกจนทั้งหมด ทำให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นไปแล้ว ขณะการทำงานยังล่าช้า ซึ่งล่าสุดคืบหน้าไปเพียง 55.5 % ทั้งนี้ทีมช่างควบคุมงาน ได้ปฏิบัติตามระเบียบเคร่งครัด ได้เตรียมข้อมูลพร้อมเอกสารชี้แจง ปปช.ที่จะเข้าตรวจเร็วๆนี้

น.ส.ปภัสมน อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 10 กล่าวสรุปและสั่งการว่า การประชุมแก้ไขปัญหาครั้งต่อไป ขอให้ ทน.อุดรธานี ส่งผู้ที่มีอำนาจในการบริหาร มาชี้แจงแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ส่งทีมควบคุมการก่อสร้างมา ก็จะได้คำตอบเฉพาะ คุมงานก่อสร้าง อยากให้ ทน.อุดรธานี แยกดำเนินการใน 2 ส่วน ส่วนแรกเรื่องสัญญา ว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง เพื่อให้งานปรับปรุงแล้วเสร็จ ไม่ใช่ถ้าผู้รับจ้างยังล่าช้า แล้ว ทน.อุดรธานีทำอะไรไม่ได้เลย

“ ส่วนที่สองเรื่องค่าปรับงานล่าช้าเป็น 0 บาท ต้องแยกออกมาพิจารณา ว่าล่าช้าเพราะปัญหาโควิด-19 หรือล่าช้าเพราะเรื่องอื่น ต้องให้ชัดเจนว่าทั้ง 2 ส่วน มีรายละเอียดในทางปฏิบัติอย่างไร แม้คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.อุดรธานี ไม่มีอำนาจดำเนินการได้เต็มที่ แต่เป็นการแนะนำและชี้แนะ ให้เกิดการแก้ไขปัญหาและถูกต้อง เป็นเรื่องดีที่จะมี ปปช.ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments