วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมหลวงตาอินถวายนำสร้าง รพ.-ศูนย์การแพทย์

หลวงตาอินถวายนำสร้าง รพ.-ศูนย์การแพทย์

“หลวงตาอินถวาย” ประธานสงฆ์ นำเจิมศิลาฤกษ์และองค์อุปถัมภ์ สร้างโรงพยาบาล-ศูนย์การแพทย์ สถาบันบรมราชชนก 1,200 ล้าน ผลิตแพทย์ปฐมภูมิ และเวชศาสตร์ครอบครัว ปีละ 135 คน ทำอุดรธานีเป็นเมืองศูนย์กลางการแพทย์ บริการสุขภาพลุ่มน้ำโขง ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพ อีสานตอนบนสู่อินโดจีน UDGMT (Udonthani Green Medical Town)

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 บริเวณที่สาธารณะประโยชน์โคกขุมปูน ตรงข้าม สนง.สาธารณสุข อ.เมืองอุดรธานี บ.สามพร้าว ต.สามพร้าว จัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างโรงพยาบาล และศูนย์การแพทย์ สถาบันพระบรมราชชนก โดยมี ศ.(พิเศษ) นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราช ชนก เป็นประธานในพิธี โดยมีพระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินถวาย สันตุสโก) ประธานสงฆ์เจิมแผ่นศิลาฤกษ์ พระราชวชิรธรรมาจารย์ (หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม) เจิมแบบแปลน นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี นำส่วนราชการ , ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น , ตัวแทน รพ.สต. , นักศึกษา และประชาชน ร่วมงาน

นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวต้อนรับว่า อุดรธานีเป็นเมืองน่าอยู่ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นเมืองแห่งธรรมะ เป็นดินแดนแห่งวัดป่า ประตูสู่ประเทศลาว ดินแดนอินโดจีน มีหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลสุขภาพชาวอุดรธานี ประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่งโรงพยาบาลชุมชน 19 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 2 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 2 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล 210 แห่ง

“ โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง และศูนย์การแพทย์ สถาบันพระบรมราชชนก เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ในการรองรับการแพทย์ปฐมภูมิ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองระบบบริการสุขภาพของประเทศ เป็นประโยชน์มหาศาลต่อพี่น้องชาวอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ”

นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี กล่าวว่า สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี ขอใช้ที่ดินบริเวณนี้ 52 ไร่ ตั้งแต่ปี 2555 วางแผนไว้เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลรองรับการขยายบริการ และลดความแออัดของโรงพยาบาลอุดรธานี ในปี 2565–2570 เขตสุขภาพที่ 8 โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ได้มีแผนการพัฒนา Medical Hub ด้านระบบบริการ มีเป้าหมายให้อุดรธานีเป็นเมืองศูนย์กลางการแพทย์ บริการสุขภาพลุ่มน้ำโขง ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพ อีสานตอนบนสู่อินโดจีน UDGMT (Udonthani Green Medical Town) และรองรับงานพืชสวนโลกในปี 2569 โดยใช้กลยุทธ์ความร่วมมือ การดำเนินการระหว่างรัฐ ประชาชน เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“ อุดรธานีได้จัดทำแผนและผ่านความเห็นชอบ ของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) อุดรธานี ประกอบกับเขตสุขภาพที่ 8 ไม่มีมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอน ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครบทุกสาขา โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ จึงเห็นศักยภาพของจังหวัดอุดรธานี มีความพร้อมที่จะสนับสนุน ให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยแพทย์ จึงได้หารือความร่วมมือพัฒนาโรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นสถานที่ผลิตและฝึกปฏิบัติเพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ ในการรองรับการแพทย์ปฐมภูมิและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองระบบบริการสุขภาพของประเทศ ”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ สถาบันพระบรมราชชนก จ.อุดรธานี ระยะที่ 1 จะเป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง , โรงเรียนแพทย์ฯ-แพทย์ทางเลือก , ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ , อาคารที่พักเจ้าหน้าที่ , อาคารบริการ , ลานจอดรถ , ถนน และสิ่งสาธารณูปโภคเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ระบบบำบัดน้ำเสีย-พลังงานสะอาด-รีไซด์เคิล ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี (2565-2567) วงเงิน 1,200 ล้านบาท มีหลวงพ่ออินถวาย สันตุสสะโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย เป็นประธานอุปถัมภ์ 1,200 ล้านบาท โดยปีแรก 2565 จะเป็นการปรับพื้นที่ มีเป้าหมายผลิตแพทย์ปีละ 135 คน ช่วงแรก 1-3 ปี ฝากเรียนไว้ที่ รพ.ศิริราช ปี 2568 จะมาเรียนที่อุดรธานี ”…

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments