กรมท่าอากาศยานเดินหน้าปรับปรุงสนามบินอุดร ปรับโฉมภาคใน 2 อาคาร เชื่อมห้องผู้โดยสารขาออก ด้วยทางเชื่อม 2 อาคาร แทนการสร้างอาคารหลังที่ 3 และปรับทางวิ่ง-ทางขับ ไม่สนข่าวถูกโอนย้ายการบริหาร ไม่ฟังเสียงทาน 12 องค์กรอุดร
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ท่าอากาศยานนานาชาติ อุดรธานี กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้จำนวนผู้โดยสารลดลง จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และแนวนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน จะโอนการบริหารจาก กรมท่าอากาศยาน มาเป็น บ.ท่าอากาศยานไทย จก.(มหาชน) หรือ ทอท. โดยที่ 12 องค์กรอุดรธานีร้องขอนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอไปก่อนเพื่อกลับมาคุยกัน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันจะนำเข้า ครม.เม.ย.นี้
ทั้งนี้ 12 องค์กรอุดรธานี ที่ขอให้มีการชะลอการเปลี่ยนมือ ยืนยันไม่ได้คัดค้านใครมาบริหาร แต่มีความเป็นห่วงในหลายเรื่อง ที่น่าจะต้องมาพูดคุย ให้การเปลี่ยนมือบริหาร สอดคล้องกับทิศทางเมืองอุดรธานี อาทิ ราคาสินค้าและบริการที่อาจจะสูงขึ้น อาทิ อาหาร-เครื่องดื่ม-สินค้าจำเป็น , ค่าจอดรถ , ค่าบริการสนามบิน , ค่าเช่าพื้นที่ร้านท้องถิ่น และโดยเฉพาะแผนพัฒนาสนามบิน (อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3) ที่ล่าสะดุดทุกครั้งที่มีข่าวเปลี่ยนมือผู้บริหาร
โดยขณะนี้ ทย.ได้ศึกษาออกแบบ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 แล้ว แต่ยังไม่ได้บรรจุเข้าไปในแผนพัฒนา แต่ได้เลือกการปรับปรุงอาคาร 1-2 รองรับการเติบโตแทน อาทิ ห้องรับรอง , ห้องน้ำ , เคาร์เตอร์ประชาสัมพันธ์ , ห้องผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเดินผู้โดยสาร เชื่อมอาคาร 1-2 ทำให้เชื่อมห้องผู้โดยสารขาออกเข้าด้วยกัน วงเงิน 56 ล้านบาท และกำลังปรับปรุง “ทางวิ่ง-ทางขับ” วงเงิน 170 ล้านบาท
สำหรับที่จอดรถและจัดการจราจร จากปัญหาช่วงต่อสัมปทาน เก็บค่าจอดรถที่ต้องหยุดไป ผู้ประกอบการรายเดิมจะเข้ามาดูแล อีกครั้งเป็นการชั่วคราวไปก่อน ส่วนระบบการเดินรถ ได้ปรับการเดินรถแบบ “วันเวย์” ทั้งหมด จากเดิมเดินรถทางเดียว 50 % โดยไปถึงทางแยกวิทยุการบินเท่านั้น ก็จะเลื่อนออกไปจนถึงแยก “คาร์โก้”
ซึ่งก่อนหน้านี้ ทย.ได้พัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ประกอบด้วย สร้างอาคารเพิ่ม (อาคาร 1) , ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 2 , สร้างลานจอดเครื่องบินเพิ่มเป็น 11 ลำ , สร้างลานจอดรถด่านทิศใต้ , การสร้างอาคารคาร์โก้ และอื่น ๆ ทำให้ท่าอากาศยานอุดรธานี เป็นสนามบินของ ทย.ที่สร้างรายได้ให้กับ ทย. นำไปสนับสนุนสนามบินอื่นที่มีภาวะขาดทุน