อุดรธานีขอถอนเรื่องขึ้นทะเบียน “เจดีย์วัดหนองบัวร้าง” เป็นโบราณสถาน เปิดทางบูรณะอนุรักษ์รูปแบบเดิม ปรับภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบ 2 ไร่ 50 ตรว. ส่วนที่มีผู้เช่าให้ต่อสัญญาได้
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุม 8 ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี พระราชสารโกศล (วงษ์ไทย สุภวังโส) เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และฆราวาส ประชุมพิจารณาการปรับปรุงบูรณะ “เจดีย์หนองบัวร้าง” เจดีย์ในสมัยล้านช้าง อายุราว 300-400 ปี บริเวณวัดหนองบัวร้าง หน้าโรงน้ำแข็งอุดรกิตติ ตลาดหนองบัว ถ.นิตโย ทน.อุดรธานี โดยมีเจ้าคณะ อ.เมือง , ตำบลหมากแข้ง , ตัวแทนเจ้าคณะอำเภอหนองวัวซอ , ส่วนราชการ , มรภ.อุดรธานี และตัวแทนเอกชน เข้าร่วมประชุม
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี แจ้งว่า การบูรณะเจดีย์วัดหนองบัวร้าง มีการประชุมมาต่อเนื่อง 3 ครั้ง มีความคืบหน้าไปตามลำดับ และในวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (สุชิน อัคคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ขณะมาปฏิบัติภาระกิจที่อุดรธานี ได้ไปบำเพ็ญกุศลที่ “เจดีย์วัดหนองบัวร้าง” มีดำริเห็นด้วยกับการบูรณะ พร้อมเสนอแนะแนวทาง และมอบปัจจัยเป็นการเริ่มต้น 100,000 บาท
รอง ผวจ.อุดรธานี ได้สอบถามผู้รับผิดชอบ กรณีจังหวัดอุดรธานี (สมัยนายชยาวุธ จันทร ผวจ.อุดรธานี) เคยเสนอให้ขึ้นทะเบียนเจดีย์วัดหนองบัวร้าง เป็นโบราณสถานตามกฎหมาย ขณะนี้ขั้นตอนดำเนินการถึงไหน หากจะชะลอหรือยกเลิกได้หรือไม่ เพราะอาจจะเป็นอุปสรรคในการบูรณะ ได้รับคำตอบว่าอยู่ในขั้นตอน เตรียมนำเข้าพิจารณาคณะกรรมการ โดยเสนอพื้นที่โบราณสถาน ครอบคลุมตัวเจดีย์ร้าง และใกล้เคียง พื้นที่รวมมากกว่า 3-1-49 ไร่ เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว จะมีผลบังคับการอนุรักษ์ตามกฎหมาย
ตัวแทนกรมศิลปากร ชี้แจงว่า เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร และเป็นไปตามกฎหมาย ที่ผ่านมาก็มีปัญหาระหว่าง การอนุรักษ์และการพัฒนามาต่อเนื่อง หากมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากรมีแนวทางชัดเจนว่า จะอนุรักษ์โบราณสถานไว้ สืบทอดต่อไปในคนรุ่นหลัง หากจะมีการปรับปรุงหรือบูรณะ จะต้องยึดรูปแบบเดิม แต่หากพื้นที่จะเสนอรูปแบบอื่น ก็สามารถเสนอมายังกรมศิลปากรได้ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณา ไม่ได้ปิดกั้น และหากต้องการชะลอ หรือยกเลิกก็เสนอมาได้
พระราชสารโกศล (เจ้าคุณวงษ์ไทย) เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี(ธ) กล่าวว่า สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ฯ มีพระดำริใน 2 ส่วนๆแรก คือ ตัวองค์เจดีย์ร้างให้อนุรักษ์ บูรณะให้มั่นคงแข็งแรง อาจจะสร้างเจดีย์คลอบไว้ เหมือนกับพระปฐมเจดีย์ หรือที่ จ.สุพรรณบุรี แต่ก็ไม่สมควรยกเลิกสัญญาเช่า ผู้เช่าพื้นที่จากกรมการศาสนา (พระท่านมีความเมตตา) ส่วนที่สองให้ปรับภูมิทัศน์ พื้นที่โดยรอบเจดีย์หนองบัวร้าง และเห็นด้วยให้ชะลอ และยกเลิกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เพื่อให้การบูรณะคล่องตัว แต่ก็ต้องขอให้กรมศิลปากรมาช่วยกำกับดูแลด้วย
นายปราโมทย์ รอง ผวจ.อุดรธานี ได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุม รวมทั้งสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการ แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ ก่อนที่ประชุมจะมีมติ 1.ให้ถอนเรื่องการขอขึ้นทะเบียน ให้เจดีย์วัดหนองบัวร้านเป็นโบราณสถาน , 2.ให้ทำการบูรณะเจดีย์หนองบัวร้าง ให้มีความมั่นคงแข็งแรงไปก่อน โดยขอความเห็นจากกรมศิลปากร ส่วนการก่อสร้างอาคารคลอบ ไม่ได้ปิดกั้นแต่ให้นำเสนอแผน รูปแบบ-งบประมาณในโอกาสต่อไป และ 3.ให้ ทน.อุดรธานี เสนอรูปแบบการปรับภูมิทัศน์พื้นที่เจดีย์วัดหนองบัวร้าง 2 ไร่ 50 ตารางวา (29 มี.ค.65)
นางฉายา ตยางคนนท์ เจ้าของโรงน้ำแข็งอุดรกิตติ และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี กล่าวยืนยันว่า เห็นด้วยกันการบูรณะ “เจดีย์วัดหนองบัวร้าง” ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ดูแลมาต่อเนื่อง หากจะบูรณะพร้อมสนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านบาท และขอเสนอรูปแบบการบริหารจัดการ ให้มีรูปแบบ “มูลนิธิ” เหมือนศาลหลักเมืองอุดรธานี ที่ตนก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมบูรณะครั้งใหญ่ ที่เกิดจากพลังของชาวอุดรธานี และยังดูแลด้วยชาวอุดรธานีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐ เชื่อว่าที่ “เจดีย์วัดหนองบัวร้าง” น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พื้นที่“วัดหนองบัวร้าง” เป็นของกรมการศาสนา มีพื้นที่ 7-3-73 ไร่ มีเอกชนเข้ามาเช่ามานานแล้ว เริ่มจากสร้างห้องแถว หรืออาคารไม้ โดยเจดีย์วัดหนองบัวร้าง ถูกรายล้อมด้วยห้องแถวไม้ พอบ้านเมืองเติบโตขึ้น กรมการศาสนา ได้มีโครงการเปลี่ยนอาคารไม้เป็นคอนกรีต ศูนย์วัฒนธรรม มรภ.อุดรธานี โดย ผศ.ฤดีมน ปรีดีสนิท ผู้อำนวยการขณะนี้ ได้ร้องขอให้กรมศิลปากรมาตรวจสอบ เพราะจะมีการสร้างอาคารพาณิชย์คอนกรีต ติดกับองค์เจดีย์ร้าง ทำให้มีการขุดค้นเป็นครั้งแรก และทำให้ไม่ได้สร้างอาคารพาณิชย์ในส่วนนั้น จึงเกิดเป็นพื้นที่ว่างให้เห็นในปัจจุบัน…………..