วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Google search engine
หน้าแรกท้องถิ่นสทนช.เปิดเวทีลุยศึกษาจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงอีสานเหนือ

สทนช.เปิดเวทีลุยศึกษาจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำโขงอีสานเหนือ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประจักษ์ตราเฟิร์สคลาส 2 โรงแรมประจักษ์ตราดีไซด์โฮเทล ทน.อุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดการประชุมผังน้ำครั้งที่ 1 (การประชุมปฐมนิเทศ) โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผอ.ศูนย์อํานวยการน้ำแห่งชาติ (ผู้แทนจาก สนง.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุมฯ โดยเป็นการให้ข้อมูลผ่านวิดิโอทางไกลจากกลุ่มที่ปรึกษาโครงการฯ ก่อนที่จะเปิดให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเบื้องต้น

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผอ.ศูนย์อํานวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 กําหนดให้ สทนช. ในฐานะ สนง.เลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้เป็นผู้จัดทําผังน้ำภายใน 2 ปี นับแต่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีข้อมูลผังน้ำประกอบเป็นข้อมูลในการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามที่กำหนดในผังน้ำ

จัดทำแผนปรับปรุงฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก รวมทั้งเสนอแนะขนาดของช่องเปิดของอาคารในลำน้ำ จัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง เป็นมาตรฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ข้อมูลผังน้ำที่สอดคล้องเชื่อมโยงกัน สทนช.จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น มอบหมายให้กลุ่มที่ปรึกษา ทั้งจาก ม.เกษตรศาสตร์ ,บ.โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแทนส์ จก. และ บ.เมกก้าเทค คอนซัลแตนท์ จก. ทำการศึกษาโครงการ

ซึ่งมีพื้นที่ศึกษาครอบคลุม 10 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 ถึง วันที่ 6 สิงหาคม 2565 รวมระยะเวลา 480 วันการจัดงานวันนี้ส่วนหนึ่งเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็น จากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นําชุมชน สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อท้วงติงโครงการ แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องของแล้งมากกว่าประเด็นของน้ำหลาก อยากเห็นความมั่นคงของน้ำในภาคการเกษตร มีการนำเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจุด ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และแนะนำวิธีการในแต่ละพื้นที่ แต่ก็ยังไม่ได้สอดคล้องกันทั้งหมด โดยคณะที่ปรึกษาโครงการฯ เน้นย้ำว่าจะรวบรวมรายละเอียดในทุกมิติมาศึกษาอีกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลสมบูรณ์และสามารถนำไปใช้ได้จริง

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments