6 ทต. 9 อบต.ใน อ.หนองหาน อุดรธานี ลงขันผุด รพ.สนาม 200 เตียง เฝ้าดูผู้ป่วยด้วยวงจรปิด รพ.ศูนย์ส่งเอ็กซเรย์ “คนอุดรไม่ทิ้งกัน” 1.3 ล้านสนับสนุน พรุ่งนี้ย้ายผู้ป่วยสีเขียวเข้า คืนเตียงให้ผู้ป่วยโรคอื่น ที่ต้องชะลอรักษาหลายเดือน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 กันยายน 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.)อุดรธานี เดินทางตรวจติดตาม “ศูนย์ฮักแพง ไทหนองหาน” หรือ รพ.สนาม อ.หนองหาน ที่อาคารศูนย์โอท็อป ทต.หนองหาน ริมถนนหนองหาน-อุดรธานี อ.หนองหาน จ.อุดรธานี มีนายประทีป อุ่ยเจริญ นายอำเภอหนองหาน นพ.ธงภักดิ์ มีเพียร ผอ.รพ.หนองหาน นายปิยะพัฒน์ ศรีภูวงศ์ นายก ทต.หนองหาน นำผู้บริหาร อปท. 15 แห่ง เข้าตรวจพื้นที่ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 และส่วนบุคคลากรทางการแพทย์
ส่วนพื้นที่ผู้ป่วยโควิด-19 เป็นอาคารขนาดใหญ่หลังคาสูง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน แยกเป็นผู้ป่วยชาย-หญิง 200 เตียง ด้วยเตียงกระดาษ พร้อมเครื่องนอน-หมอน-มุ้ง , พัดลม และอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว , มีพื้นที่ซักล้าง-ห้องน้ำ แยกส่วนชาย-หญิง , มีจุดตรวจวัดความดัน-อุณหภูมิ , มีห้องความดันลบ พร้อมติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์โมบาย ตรวจสอบปอดผู้ป่วย จัดซื้อด้วยเงินบริจาค “คนอุดรไม่ทิ้งกัน” ของผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ราคากว่า 1.3 ล้านบาท (จัดซื้อ 5 เครื่องมอบให้โรงพยาบาลแม่ข่าย)
ในอาคารผู้ป่วยยังมี “หุ่นยนต์ทางการแพทย์” รับการสนับสนุนจาก วิทยาลัยการอาชีพ อ.หนองหาน จำนวน 1 ตัว สร้างขึ้นเพื่อใช้งานในศูนย์ฯเฉพาะ งบประมาณ 40,000 บาท ควบคุมทางไกลผ่านโทรศัพท์มือถือ บรรทุกของน้ำหนักครั้งละไม่เกิน 40 กก. เพื่อนำยา-อาหาร-น้ำ-สิ่งของต่าง ๆ ส่งเข้าไปในผู้ป่วยภายใน โดยบุคลากรทางการแพทย์ จะไม่ต้องสวมชุด พีพีอี.เข้าไปภายในอาคารบ่อย ๆ และยังพูดคุยโตตอบกับผู้ป่วยผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ด้วย
ส่วนพื้นที่บุคลากรทางการแพทย์ ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แยกออกมาจากอาคารผู้ป่วย เป็นทั้งสถานที่พัก และพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ เฝ้าติดตามอาการผู้ป่วย ผ่านโทรทัศน์วงจรปิด จากอาคารผู้ป่วยและพื้นที่โดยรอบ ตลอดจน “ระบบออนไลน์” เชื่อมโยงข้อมูลกับ รพ.หนองหาน ที่อยู่ห่างไปในการเดินทาง 5 นาที ศูนย์ฮักแพง ไทหนองหาน มีลานจอดขนาดใหญ่ เพียงพอในการจัดพื้นที่รถฉุกเฉิน นำผู้ป่วยเข้า-ออกสะดวก พร้อมพื้นที่จอดรถของบุคลากร ตลอดจนพื้นที่สำรองจำนวนมาก
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวขอบคุณ ฝ่ายปกครอง , รพ.หนองหาน , หน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่งของ อ.หนองหาน ที่ร่วมกันอุดหนุนงบประมาณ มอบให้ ทต.หนองหาน นำมาปรับปรุงอาคารศูนย์โอท็อป จนเกิดเป็น รพ.สนามหนองหาน จะดูแลพ่อแม่พี่น้องของเราเอง เดือนที่แล้วตนเองมาที่นี่ สภาพของอาคารไม่ใช้งานมานาน มีสภาพชำรุดทรุดโทม แม้แต่พื้นก็พังเสียหายไปมาก การร่วมแรงรวมใจทำงาน ไม่ถึงเดือนพร้อมใช้งานได้แล้ว
นายประทีป อุ่ยเจริญ นายอำเภอหนองหาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับมาจำนวนมาก ทำให้เตียงรักษาผู้ป่วย รพ.หนองหาน ไม่เพียงพอ ต้องส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.สนามอื่น ได้รับคำแนะนำให้ท้องถิ่นมาช่วย เมื่อประชุมก็เห็นร่วมกันว่า อ.หนองหานน่าจะมี รพ.สนามเอง โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่น เมื่อออกดูพื้นที่ได้เลือกที่ “ศูนย์โอท็อป” ทต.หนองหาน ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ก็เห็นด้วยให้ใช้ที่นี่ โดยมี ทต.หนองหาน เป็นเจ้าภาพ อปท.อีก 14 แห่ง สนับสนุนงบประมาณมาช่วย โดยรูปแบบ ทต.หนองหาน และ รพ.หนองหาน ได้ร่วมกันพิจารณา
นายปิยะพัฒน์ ศรีภูวงศ์ นายก ทต.หนองหาน เปิดเผยว่า ศูนย์โอท็อปไม่ได้ใช้งานมานาน การปรับปรุงใช้งบสูงได้จาก ทต. 6 แห่งๆละ 240,000 บาท อบต. 9 แห่งๆละ 200,000 บาท รวมแล้ว 3,240,000 บาท บาท รูปแบบก็หารือกันทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงการใช้งาน ทั้งวัสดุอุปกรณ์ผู้ป่วย และระยะเวลาสร้าง เพราะไม่รู้ว่าผู้ป่วยจะสูงขึ้นหรือลดลง ยังคำนึงถึงใช้ประโยชน์อนาคต ซึ่งก็ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ขณะที่บางส่วนก็ทำลักษณะชั่วคราว อาทิ ไฟฟ้าภายในได้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ แล้วเอามาดำเนินการเอง เป็นการใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยเหมือนใช้ชีวิตประจำวันที่บ้าน บุคคลากรทางการแพทย์ก็ต้องอยู่ด้วยความสะดวก
นพ.ธงภักดิ์ มีเพียร ผอ.รพ.หนองหาน เปิดเผยว่า รพ.หนองหาน เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ดูแลโรงพยาบาลใกล้เคียงอีก 4 แห่ง (พิบูลย์รักษ์ -ทุ่งฝน-ไชวาน-กู่แก้ว) เราเคยรับผู้ป่วยโควิด-19 สูงสุดเกือบ 200 คน โดยนำเตียงผู้ป่วยอื่นมาใช้แทน ทำให้มีผู้ป่วยโรคอื่นต้องชะลอการรักษา เมื่อศูนย์ฮักแพงไทหนองหานเปิด หลังทดสอบระบบอีก 1-2 วัน จะย้ายผู้ป่วยสีเขียวจาก รพ.หนองหาน มารักษาที่นี่ทั้งหมด ก็จะเป็นการคืนเตียงผู้ป่วยอื่น ให้กลับเข้ามารักษาที่ รพ.หนองหานอีกครั้ง นอกจากนี้ยังจะรับผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว จาก รพ.ที่เราเป็นพี่เลี้ยงอยู่มารักษาด้วย…