วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกท่องเที่ยวเปิดศูนย์เที่ยวภูพระบาทลุยมรดกโลก

เปิดศูนย์เที่ยวภูพระบาทลุยมรดกโลก

ผช.รมว.วธ.เปิดศูนย์บริการท่องเที่ยว “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” มูลค่า 15.3 ล้าน ทันสมัยยกระดับสู่สากล เตรียมความพร้อมเสนอเป็น “มรดกโลก”

เวลา 14.30 น. วันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ.ติ้ว ม.6 ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผช.รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานเปิด “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เพื่อยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานระดับสากล เตรียมความพร้อมในการนำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม , นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี ร่วมพิธี

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินจอมธาตุ-ภูพระบาท (เตรียมการ) พื้นที่ 3,430 ไร่ พบหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถาน กระจายอยู่ทั่วบริเวณ และเกิดขึ้นในหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ 54 จุด มากที่สุดในประเทศไทย , เพิงผาหินขนาดใหญ่ , วัดที่สร้างขึ้นในสมัยลานช้างกว่า 70 แห่ง รวมทั้งรอยพระพุทธบาท 3 รอย ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตำนานพระธาตุพนม สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2535

นายมนตรี ธนภัทรพรชัย หน.อุทยานประวัติภูพระบาท นำ ผช.รมว.วัฒนธรรม พร้อมคณะ เข้าชมนิทรรศการภายในอาคารศูนย์ฯ เป็นอาคารภายนอกโปร่งแสง จัดแสดงเนื้อหาพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนา ของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาท และใกล้เคียง รวมทั้งมีห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ โดยห้องจัดแสดงแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ ธรรมชาติบนภูพระบาท , ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน , ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์ , ห้องโบราณคดีผ่านสื่อผสมผสาน , ห้องอริยสงฆ์ภูพระบาท และห้องชาติพันธุ์ไทยพวน

จากนั้นขึ้นรถไฟฟ้าบริการท่องเที่ยว เข้าชมกลุ่มโบราณสถาน และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แบบประเพณีอีสานด้วย “ขันหมากเบ็ง” ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ที่อยู่ในยุคต่างกัน ได้ดัดแปลงเพิกผาหินทราย ลายล้อมด้วยใบเสมาขนาดต่าง ๆ ให้เป็นศาสนสถานประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นกลุ่มกระจายอยู่ทั่วภูพระบาท โดยเริ่มต้นที่ หอนาอุษา ก่อนเดินเท้าชมพื้นที่โดยรอบ อาทิ หีบศพพ่อตา , หีบศพเท้าบารส , หีบศพนางอุษา และถ้ำพระ ตลอดเส้นทางเดินถูกปรับแต่งให้สะดวก พร้อมป้ายอธิบายความเป็นมา รวมทั้งป้ายต้นไม้ตลอดทาง

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้จัดสรรงบประมาณ 15.34 ล้านบาท จากงบยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข้งขันของประเทศ แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม พัฒนาและปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพอาคารปฏิบัติการ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการ ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

“ ยังบริการให้ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ที่ผสมโลกของความเป็นจริงกับโลกเสมือน หรือ AR สำหรับเด็ก เยาวชน ผู้สูงวัย และคนพิการ ทั้งนี้เนื้อหาที่จัดแสดง เหมาะสำหรับผู้มารับริการหลายช่วงอายุ ที่มีความสนใจในพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อและศาสนาของคนในพื้นที่ภูพระบาท และบริเวณใกล้เคียง โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูล และวัตถุจัดแสดงจากชาวไทยพวนบ้านผือ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ”

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผช.รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิทัศน์ศักดิ์สิทธิ์ ของผู้คนในลุ่มน้ำโขงและอุดรธานี ที่มีความพร้อมและศักยภาพ สำหรับการเสนอชื่อขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ โดยกรมศิลปากรจะเสริมสร้างศักยภาพ ให้มีความพร้อมในทุกด้าน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียน นอกจากจะได้อนุรักษ์โบราณสถานอย่างเหมาะสมแล้ว ยังได้ปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับสากล หวังว่าวันนี้จะเป็นก้าวแรกของศูนย์ฯ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า “อุทยานประวัติสตร์ภูพระบาท” ขึ้นบัญชีชั่วคราวรับการประเมินเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ 1 เม.ย.47 ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ 30 ม.ค.58 , ผู้เชี่ยวชาญ ICOMOS ลงพื้นที่ 17-24 ก.ย.58 , ไทยต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามคำขอ 2 พ.ย.58 , ICOMOS ส่งรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์ 11 มี.ค.59 เพื่อให้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่าง 10-20 ก.ค.59 แต่ไทยถอนตัวเพราะเชื่อว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ ต่อมา 9 เม.ย.62 ครม.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนำเสนออีกครั้ง ขณะนี้กำลังอยูระหว่าง จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments