ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี เวลา 16.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2562 อุดรธานียังไม่ได้รับอิทธิพลรุนแรงจาก พายุ “โพดุล” แต่ยังเตรียมรับมืออย่างต่อเนื่อง ด้วยพยายามลดระดับน้ำในลำน้ำห้วยหลวง ที่มีระดับสูงขึ้นและล้นตลิ่งหลายจุด เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่ฝนตกลงมาในสัปดาห์ก่อน เพราะฝนในเดือนสิงหาคมปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ย ฝนเดือนสิงหาคม 30 ปี มากกว่า 119 มม. ด้วยการลดการระบายน้ำลงลำห้วยหลวง และลำห้วยสาขา 2 จุด ที่ประตูน้ำห้วยหลวง บ.หัวขัว ต.เมืองเพีย อ.กุดจับ และที่อ่างฯบ้านจั่น ทต.บ้านจั่น อ.เมือง
นอกจากนี้ยังขอรับการสนับสนุน เครื่องผลักดันน้ำจากสำนักเครื่องจักรกลสูบน้ำที่ 6.3 ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มาติดตั้งที่ประตูน้ำห้วยหลวง บ.สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง เพื่อผลักดันน้ำจากท้ายเมืองอุดรธานี ลงสูงแม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น โดยวันนี้เครื่องผลักดันน้ำ 2 ชุด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 นิ้ว ถูกส่งมาถึงประตูน้ำห้วยหลวง บ.สามพร้าว รอเจ้าหน้าที่ติดตั้งและควบคุมเครื่อง เดินทางตามมาภายหลัง
สำหรับ “ประตูน้ำห้วยหลวงบ้านสามพร้าว” สร้างขึ้นมาหลังน้ำท่วมใหญ่อุดรธานี ปี 43 และ 44 คู่กับฝายน้ำล้นเดิมที่มีก่อนหน้า แต่กลับขวางทางน้ำทำให้น้ำท่วม หลังจากสร้างน้ำเคยท่วมสูงสุดที่ 169.800 รทก. ที่ประตูน้ำได้ทำเครื่องหมายไว้ จากนั้นใน 27 ก.ค.60 เกิดพายุ “เซินกา” มีการนำเครื่องผลักดันน้ำมาติดตั้ง 4 ชุด ซึ่งนี้ช่วงรับมือกับพายุ “โพดุล” มีระดับน้ำสูงกว่า ปี 60 ราว 20 ซม. อีกทั้งน้ำไหลผ่านประตูน้ำอย่างช้าๆ
นายวัชรินทร์ สุตลาวดี นายอำเภอเมืองอุดรธานี เปิดเผยว่า น้ำที่ล้นตลิ่งลำน้ำห้วยหลวง เข้าท่วมถนน และพื้นที่การเกษตร สถานการณ์ดีขึ้นตั้งแต่ประตูน้ำห้วยหลวง บ.หัวขัว ผ่านมาที่ ต.เชียงยืน ต.นากว้าง ระดับน้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว คงเกิดจากการลดการระบายน้ำลง แต่ระดับน้ำใน ต.หมูม่น ต.นาข่า ต.สามพร้าว ยังอยู่ในภาวะทรงตัว หวังว่าเครื่องผลักดันน้ำจะช่วยได้ รวมทั้งฝนที่ยังไม่ตกลงมาในวันนี้ หรือหากตกลงมาก็คงจะใช้เวลาระบาย ในพื้นที่เสี่ยงภัยที่คาดไว้ 20 จุด …