เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 29 เมษายน 2564 บริเวณตึกหลวงตามหาบัว โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เขตเทศบาลนครอุดรธานี นายณัฐพงษ์ หรือเฮียณัฐ แซ่ตั้ง อายุ 43 ปี เจ้าของร้านป้ายบางกอกพลาสติค ถ.นิตโย ทน.อุดรธานี พร้อมทีมงานช่างได้นำ “ตู้ตรวจโควิดแบบสนาม” (swap test box) มาส่งให้กับโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี 2 ตู้ โดยมี นพ.อัครวัต รัตนวงศ์ไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ศูนย์อุดรธานี พร้อมคณะแพทย์มารับมอบ ด้วยรอยยิ้มด้วยความยินดี
นายณัฐพงษ์ หรือเฮียณัฐ ได้สาธิตการใช้งานของตู้ ที่ด้านหน้ามีข้อความ “คนอุดรธานีทุกครอบครัวร่วมมอบ ตู้ตรวจเชื้อโควิดแบบสนาม # เราช่วยกันเราจะรอด” สูง 195 ซม. กว้าง 115 ซม. และลึก 90 ซม. มีล้อด้านล่าง โครงสร้างทำจากสแตนเลส พื้นเป็นเหล็กซิงค์ ผนังทำจากพลาสวูด และติดตั้งระบบไฟส่องสว่าง พร้อมกับเครื่องฟอกอากาศ 3 เครื่อง ติดตั้งแบบดูดอากาศเข้า 2 ตัว ระบายอากาศออก 1 ตัว ซึ่ง สามารถใช้งานได้เอนกประสงค์ เป็นทั้งตู้ความดันบวก และตู้ความดันลบ ราคา 73,000 บาท
นพ.อัครวัต รัตนวงศ์ไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวว่า รพ.ศูนย์อุดรธานี เคยรับตู้ตรวจเชื้อสนาม จากพี่น้องชาวอุดรธานีมาแล้ว ใช้งานตรวจหาเชื้อโควิด-19 บริเวณตู้บัวแคร์ สำหรับตู้ตรวจพาเชื้อชุดนี้ จะนำมาใช้ภายในตัวอาคาร เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่พักรักษาอยู่ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย ตู้นี้สามารถปรับเป็นเป็นได้ทั้งห้องความดับบวก และความดันลบ มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถใช้งานได้ระยะยาว ต้องขอบคุณชาวอุดรธานี
นายณัฐพงษ์ หรือเฮียณัฐ แซ่ตั้ง อายุ 43 ปี เจ้าของร้านป้าย เปิดเผยว่า ได้นำตู้ตรวจโควิดแบบสนาม ที่ได้ร่วมกับพ่อค้าชาวอุดรฯบริจาค แล้วนำมาสร้างเป็นตู้ตรวจโควิด ซึ่งตู้ถ้าปรับเป็นความดันบวก บุคลากรทางการแพทย์ก็จะเข้าไปอยู่ในตู้ โดยไม่ต้องสวมใส่ชุดพีพีอี (PPE) จะประหยัดเวลาในการทำความสะอาดได้ และถ้าปรับตู้ให้เป็นความดันลบ ผู้ป่วยก็จะอยู่ในตู้ตรวจแทน สามารถทำงานได้ถึงวันละ 12 ชั่วโมง เคยส่งมอบให้โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีเมื่อ 5 พ.ค.2563
“ แรงบันดาลใจที่ผมทำตู้ตรวจโควิดนี้ขึ้นมา เพราะในตู้ตรวจโควิดช่วงแรกที่โรงพยาบาล ผมเห็นนำคนไข้เข้าไปอยู่ในตู้ตรวจ ซึ่งผมดูแล้วมันอาจจะเป็นการสิ้นเปลือง เพราะตรวจคนไข้คนหนึ่งเสร็จเรียบร้อยก็ต้องมาทำความสะอาดต่อครั้ง ผมก็เลยคิดว่าถ้าเกิดให้หมอเข้าไปอยู่ในตู้ มันก็อาจจะประหยัดเวลามากกว่า และชุด พีพีอี. หมอพยาบาลก็ไม่ต้องใส่เยอะหลายชั้น แล้วหมอคนเดียวก็สามารถนั่งตรวจได้แบบยาวๆ การทำความสะอาดตู้ก็ใช้จำนวนครั้งน้อยลง ”
นายพิชัย เอื้อมธุรพจน์ หรืออาจารย์เปา เปิดเผยว่า มีกลุ่มเพื่อนๆหลากหลายอาชีพ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมลักษณะนี้ต่อเนื่อง ที่มีแนวคิดว่าชาวอุดรธานี จะออกมาช่วยกันก่อน ไม่ต้องรอส่วนกลาง เราเองก็น่าจะทำได้ ในส่วนโควิด-19 ปีที่แล้วมอบไป 5 ตู้ ที่ รพ.อุดรธานี , หนองคาย , บึงกาฬ และสกลนคร จากที่รับรู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ มีปัญหาในเรื่องอุปกรณ์ตัวนี้ เมื่อไปดูต้นแบบก็นำมาปรับปรุง ให้สามารถทำงานได้เหมาะสม 2 ตู้ที่ส่งมอบถือว่าสมบูรณ์ที่สุด
“ เพื่อนๆที่เคยช่วยกันเรื่องลักษณะนี้ ได้มอบหมายให้คุณนรุตม์ชัย ศุภชัยสาคร เป็นผู้ดูแลระดมเงินจากเพื่อนๆ บางท่านรู้ข่าวก็มาสมทบด้วย ผมจะลงไปประสานเรื่องตัวตู้ ซึ่งตู้นี้ไม่ใช่ใช้งานแค่โควิด-19 แต่ยังสามารถใช้งานอื่นได้ รวมทั้งใช้งานกันระยะยาว ซึ่งขณะนี้ใน จ.อุดรธานี มีโรงพยาบาล 2 แห่ง ต้องการตู้นี้เช่นกัน และบางจังหวัดแจ้งผ่านทางร้านมา ”