ประชุม กรอ.อุดรธานี โยธาใช้เป็นเวทีชี้แจ้ง พัฒนาลำห้วยหมากแข้งล่าช้า เตรียมแผนรับมือฝนอยู่แล้ว รอง ผวจ.ย้ำจิตใจคนอุดรอ่อนไหว เรื่องน้ำท่วมเมืองต้องชัดเจน สั่งทำแผนชี้แจงรายเดือน
วันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี (กรอ.จังหวัดอุดรธานี) ครั้งที่ 6/2566 โดยมีคณะกรรมการฯตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานี ร่วมประชุม
ในการประชุมครั้งนี้ได้ติดตามความคืบหน้า การดำเนินโครงการงานตามมติ ครม.สัญจร จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่18 กันยายน 2561 จำนวน 11 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ อยู่ระหว่างการดำเนินงาน 3 โครงการ ไม่สามารถดำเนินการได้ 1 โครงการ ยกเลิกแผนงาน 1 โครงการ , มติ ครม. จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 จำนวน 16 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 7 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 9 โครงการ พร้อมกันนี้สำนักงานคลังจังหวัดอุดรธานี ได้มีการรายงานภาวะเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี ประจำเดือนมกราคม 2566
สำหรับ มติ ครม.ถนนคู่ขนานทางรถไฟ หรือโลว์คอนโลด จากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มาถึง ทน.อุดรธานี รวมทั้ง ทน.อุดรธานี ที่ก่อนหน้านี้การรถไฟออกมาปฏิเสธ ไม่สามารถทำถนนคู่ขนาน จากทางหลวง 216 เข้ามายัง ทน.อุดรธานีได้ เพราะมีเอกชนเช่าพื้นที่ของ รฟท.อยู่ เพื่อประกอบกิจการโรงปูน และ รฟท.ยังระบุว่าไม่ขัดข้องหากจะทำโครงการจากนิคมอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ถึงทางหลวง 216
แต่เนื่องจาก รฟท.ได้ศึกษาออกแบบโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไว้แล้ว ซึ่งบนเส้นทางนี้มีจุดตัดทางรถไฟหลายแห่ง และ รฟท.ได้ออกแบบทางพาดรถไฟไว้หมดแล้ว จ.อุดรธานี จะต้องทำการศึกษาออกแบบ เส้นทางนี้ไหม่โดยประสานรูปแบบจาก รฟท. ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้ล่วงเลยมานาน จึงขอให้ คกก.พิจารณา จะมอบหมายให้หน่วยงานสานต่อ ซึ่งที่ประชุมสรุปให้ “ทางหลวงชนบท” เป็นเจ้าของเรื่อง ขอความอนุเคราะห์ไปยัง อบจ. อุดรธานี เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาออกแบบโครงการนี้
ส่วนมติ ครม. การพัฒนาห้วยหมากแข้ง ในการระบายน้ำและปรับภูมิทัศน์ ที่สื่อมวลชนในท้องถิ่นรายงานว่า โครงการมีความล่าช้ากว่าแผนงานมาก ขณะนี้ผู้รับจ้างได้ปิดกั้นลำห้วยหมากแข้ง ตั้งแต่สะพานข้ามลำห้วยบนถนนประจักษ์ฯ โดยได้ทำทางเบี่ยงระบายน้ำด้านข้าง ซึ่งมีขนาดเล็กจึงเกิดน้ำขัง ส่งผลให้น้ำที่ขังอยู่เน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน และจากความล่าช้าอาจจะทำให้ ช่วงฤดูฝนที่จะมาอีก 3-4 เดือน จะสามารรถคืนทางระบายน้ำได้หรือไม่ เกรงว่าหากดำเนินการไม่ได้จะเกิดน้ำท่วมเมือง
นายพรเทพ ศรีวรานันท์ โยธาธิการและผังเมืองอุดรธานี ชี้แจงว่า โครงการนี้ควบคุมกำกับดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมืองโดยตรง สำหรับโยธาธิการและผังเมืองอุดรธานี เป็นหน่วยประสานงานกับพื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าโครงการมีความล่าช้ามาก ที่เกิดจากปัญหาของ “โควิด-19” และ “การปรับแก้แบบแปลน” ซึ่งเวลาในสัญญาก็จะได้รับการขยายออกไปตามระเบียบ
ทั้งนี้ลำห้วยหมากแข้งตามธรรมชาติ จะมีน้ำหากรุนแรงในช่วงเดือนตุลาคมทุกปี ในช่วงต้นฤดูฝนก็จะระบายน้ำฝน ตามปริมาณฝนที่ตกลงมา ซึ่งแผนการทำงานได้มีแผนรองรับอยู่แล้ว ว่าช่วงไหนจะต้องคืนพื้นที่ระบายน้ำ แต่เพราะงานที่ล่าช้าจะต้องลงสำรวจอีกครั้ง เพื่อวางแผนให้สามารถระบายน้ำได้ ไม่มีปัญหาจนเกิดน้ำท่วมหรือรอการระบาย
โดยการปรับปรุงลำห้วยหมากแข้ง ระยะที่ 1 มีระยะทาง 936 ม. มีการดำเนินงานเป็นช่วงๆ ขณะนี้ในช่วงที่มีการการปิดกั้นลำห้วย และรื้อถอนพนังคอนกรีตเดิม มีระยะทางอยู่ประมาณ 300 เมตร จะเร่งรัดให้ผู้รับจ้างทำในส่วนนี้ให้เสร็จ ก่อนที่จะถึงฤดูฝนที่จะถึงนี้ เพื่อเปิดทางระบายน้ำก่อน ที่เหลือจะยังคงลำรางคอนกรีตไว้เพื่อระบายน้ำ และจะดำเนินการในส่วนริมฝังไปก่อน
นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้สอบถามในหลายประเด็น พร้อมกล่าวว่า ชาวเมืองอุดรธานีมีความอ่อนไหว เรื่องน้ำท่วมเมืองที่เคยท่วมใหญ่มาแล้ว ขอให้โยธาธิการและผังเมือง ไปจัดทำแผนการก่อสร้าง เพื่อรอบรังฝนที่กำลังจะมา แล้วมานำเสนอต่อที่ประชุมทุกเดือน หรือรายงานให้ทางจังหวัดรู้เป็นระยะ และขอให้ประชุมชี้แจงกับสื่อมวลชน เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย
ประชาสัมพันธ์ จ.อุดรธานี เสนอว่าในต้นเดือนเมษายนนี้ จะมีกิจกรรมผู้ว่าฯพบ “สื่อมวลชน” ขอให้โยธาธิการและผังเมืองอุดรธานี ประสานกับ สนง.ปชส.อุดรธานี เพื่อดูช่วงเวลาในการชี้แจงกับสื่อ ….