“แม่มณี” ยังนำชาวบ้านต้านเหมืองโพแทช แม้ ครม.ไฟเขียวให้ออกประทานบัตร ยืนยันเหมืองลัดขั้นตอน ศาลปกครองชั้นต้นชี้ให้ทำตาม พรบ.แร่ปี 60 เอกชนต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ขณะธงเขียวต้านเหมืองผืนใหม่ เริ่มทยอยกลับมาติดแทนผืนเดิม
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ที่บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านสังคม ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พื้นที่ศูนย์กลางต่อต้านเหมืองแร่โพแทชกว่า 21 ปี บรรยากาศหลังจากมีข่าวว่าวันนี้ คณะรัฐมนตรีรับทราบขั้นตอน เหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ของ บ.เอเชีย แปซิกฟิกโปแตซ คอร์เปอเรชั่น ( APPC) ในเครืออิตาเลี่ยนไทย ยืนขอประทานบัตรต่อกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี ประเมินว่าจะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 33.67 ล้านตัน เพื่อทดแทนการนำปุ๋ยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยไม่พบป้ายต่อต้านเหมืองแร่โพแทช ที่เคยติดอยู่ทางเข้าออกทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กหน้าบ้านตนเอง บางส่วนเหลือเพียงซากที่ใช้งานมานานแล้ว แต่มีเพียง “ธงสีเขียวต่อต้านเหมืองโพแทช” ที่นำมาติดบริเวณหน้าบ้านใหม่ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา บางธงสีเขียวต้านเหมืองโพแทชใหม่ ถูกนำมาติดคู่กับธงต้านอันเดิม บ่งบอกถึงการต่อสู่มาอย่างยาวนาน หลังจากเดินทางไปยื่นหนังสือให้ ผวจ.อุดรธานี คัดค้านการนำประทานบัตรเข้าพิจารณาใน ครม.
ที่บ้านของนางมณี บุญรอด อายุ 75 ปี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ก็นำธงสีเขียวสัญลักษณ์ต่อต้านเหมือนแร่โพแทช ผืนใหม่มาเปลี่ยนธงผืนเดิมที่เก่าแล้ว โดยเปิดเผยว่า ต่อสู้กับเหมืองโพแทชมากว่า 21-22 ปี จะเกิดหรือไม่เกิดเหมืองบอกไม่ได้ เพราะอำนาจอยู่กับเขา แต่พื้นที่อยู่กับเรา เราก็ยังยืนยันว่าไม่เอา หากรัฐบาลจะเอาก็ไปทำในพื้นที่รัฐบาล ชาวบ้านที่นี่อยู่ดีกันอยู่แล้ว ทำไมต้องเอาของไม่ดีมาให้ประชาชน
“ ราวปี 60 ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ท่านมีคำพิพากษาชั้นต้นว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการต่อสู้ ที่ผ่านมาการขอประทานบัตรลัดขั้นตอน การทำประชาคมก็ปิดกั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ ฝ่ายเขาก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ถึงวันนี้ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ตั้งแต่นั้นเราก็ไม่เคลื่อนไหวชุมชน แต่ยังนัดหมายพูดคุยกันอยู่ไม่ขาด กิจกรรมการหาทุนดำนารวม บุญกุ้มข้าวใหญ่ ระดมทุนไว้ต่อสู้ก็ทำเหมือนเดิม ”
นางมณี บุญรอด อายุ 75 ปี แกนนำกลุ่มฯ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ไม่เคลื่อนไหวชุมชนต่อต้านกว่า 4 ปี ก็ยังมีจดหมายจากหน่วยงานราชการ องค์กรต่างๆมาถึงเพื่อสอบถาม หรือเชิญไปให้ข้อมูล ซึ่งล่าสุดก็มีการเชิญไปให้ข้อมูลปัญหากระทบอะไรบ้าง และการแก้ไขปัญหาปุ๋ยขาดแคลน เราเห็นว่าเรารวมตัวต่อต้านเหมืองที่บ้านของเรา จึงไม่เดินทางไปตามที่เชิญมา และวันนี้ที่ ครม.เห็นให้ดำเนินการต่อ ก็ต้องมาเริ่มทำประทานบัตรใหม่อีก เพราะฉบับเก่าโมฆะไปแล้ว ถ้ามาก็คงมาถามประชาชน เราก็จะยืนยันว่าเราไม่เอา
นางพิกุลทอง โทธุโย อายุ 57 ปี กรรมการกลุ่มฯ เปิดเผยว่า สัปดาห์ก่อนเป็นแกนกลุ่มฯ นำสมาชิกไปยื่นหนังสือต่อ ผวจ.อุดรธานี แทนนางมณี บุณรอด แกนนำกลุ่มที่อายุมากขึ้น คัดค้านการพิจารณาของ ครม.ในวันนี้ รอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา โดยเราได้แนบหนังสือของศาลปกครองอุดรธานี , เอกสารมติการประชุมสภา อบต.ห้วยสามพาด ไม่เห็นด้วยกับเหมือง 12 ต่อ 9 และรายชื่อประชาชน 2,586 คน ยืนยันว่าชาวบ้านยังคัดค้านอยู่ ซึ่งตั้งแต่ พรบ.แร่ ปี 60 มีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดนำมาปฏิบัติ เมื่อ ครม.ตัดสินใจแบบนี้ เราก็จะกลับมาเคลื่อนไหว เริ่มเอา “ธงเขียว” ผืนใหม่ไปติดกันแล้ว…..