วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมห้วยหลวงวิกฤตลำน้ำล้น-อ่างฯจ่อเต็ม

ห้วยหลวงวิกฤตลำน้ำล้น-อ่างฯจ่อเต็ม

อุดรธานีเตรียมรับมือฝนหนัก 27-29 ส.ค. หลังสิงหา 26 วันฝนถล่ม 536 ม.ม. ทำน้ำในอ่างฯห้วยหลวงพุ่งวันละ 4 ล้าน หาก 4 วันไม่หยุดอาจต้องระบายน้ำ ขณะฝนตกใต้อ่างฯทำลำห้วยหลวงสูงกว่าตลิ่ง ที่ปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย น้ำโขงสูงกว่า 20 ซม. ต้องปิดประตูน้ำสูบออกวันละ 5 แสน ลบม. สั่งป้อง ทน.อุดรธานี ย่านเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการน้ำ (อุทกภัย) จ.อุดรธานี ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายธนทร ศรีนาค ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี นำคณะทำงานจากฝ่ายปกครอง , ชลประทาน , โยธาธิการและผังเมือง , อุตุนิยมวิทยา , ทางหลวง , ทางหลวงชนบท , เกษตรสหกรณ์ , องค์กรปกครองท้องถิ่น , ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยมีผู้ร่วมประชุมทางไกลจาก 20 อำเภอ

หน่วยงานได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาระหว่าง 1-26 สิงหาคมที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนรวม 536 มม. ถือเป็นปริมาณน้ำฝนเกินค่าเฉลี่ย แต่ยังต่ำกว่าในปีน้ำท่วมใหญ่วัดได้ 700 มม. โดยในช่วงวันที่ 27-29 สิงหาคมนี้ ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำใน สปป.ลาว และเวียดนาม จะทำให้ยังมีฝนหนักในอีสานตอนบน จากนั้นปริมาณน้ำฝนจะลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง “ร่องความกดอากาศ” ที่จะพาดผ่านอีสานกลาง และการขยับขึ้นลง จึงยังต้องติดตามสถานการณ์ และพยากรณ์อากาศต่อเนื่อง

ฝนส่วนใหญ่ตกลงท้ายอ่างฯ ทำให้น้ำลำห้วยหลวงบริเวณบ้านท่าตูม มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่นเล็กน้อย ขณะที่ปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีระดับต่ำกว่าน้ำโขง 20 ซม. ต้องปิดประตูน้ำแล้วสูบออกวันละ 5 แสน ลบม. โดยอ่างฯบ้านจั่น และอ่างฯหนองสำโรง เปิดประตูระบายออกลงลำห้วยหลวง พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่ประตูน้ำบ้านสามพร้าว 4 เครื่อง ที่บ้านดอนหวาย 2 เครื่อง ที่น่าเป็นห่วงคืออ่างฯห้วยหลวง ความจุ 135 ล้าน ลบม. ขณะนี้มีน้ำ 60 % ยังไม่มีการระบายน้ำ โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างฯวันละ 4 ล้าน ลบม. หากน้ำยังไหลเข้าต่อเนื่องอีก 3-4 วัน น้ำจะเกินระดับเฝ้าระวัง ต้องพิจารณาแผนระบายออก ส่วนอีกด้านที่อ่างฯลำพันชาด และฝายกุมภวาปี ได้เปิดประตูน้ำระบายไปยังเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์

สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจใน ทน.อุดรธานี มีปัญหาในลำห้วยหมากแข้ง ส่วนที่ปรับปรุงลำห้วยของกรมโยธาฯ การระบายน้ำไม่เต็มประสิทธิภาพ ระดับน้ำในลำห้วยสูงแก้ไขไม่ได้ ขณะที่ปากห้วยหมากแข้ง มีระดับน้ำใกล้เคียงกับน้ำนอกเมือง น้ำจึงระบายออกนอกเมืองช้า สถานีสูบน้ำหลายจุดทำงานเต็มที่ แต่เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนัก จะเกิดภาวะน้ำท่วมรอการระบาย ทั้งบนถนนและชุมชนหลายพื้นที่ ได้นำเครื่องสูบน้ำของป้องกันบรรเทาสาธารณะภัย และทรัพยากรน้ำ มาสูบเร่งระบายน้ำออกใช้เวลา 2-4 ชม. แต่ละจุดใช้เวลาแตกต่างกัน หากฝนตกหนักก็จะมีสภาพแบบนี้ ซึ่งมีแผนแก้ไขหลังจากน้ำลดแล้ว

นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จุดที่มีความเสียงน้ำท่วมขังหรือรอระบาย ให้จัดเวรยามเพื่อเปิดเครื่องสูบน้ำ แก้ปัญหาให้ประชาชนทันที ให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ โดยเฉพาะในตัวเมืองย่านเศรษฐกิจ ให้พร้อมดำเนินการทันที และที่ผ่านมาว่านำรอระบายเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ให้เก็บข้อมูลเพื่อถอดบทเรียน ที่จะจัดประชุมหลังจากสถานการณ์ผ่านไปแล้ว เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments