10 ปีก่อนอุดรธานี (ช่วงนายเสนีย์ จิตเกษม เป็น ผวจ.) เคยขอรับการสนับสนุน งบประมาณศึกษาออกแบบ ทางเลี่ยงเมืองรอบสองจากรัฐบาล โดยนำเสนอแนวทางของคณะทำงานไปด้วย ได้รับคำตอบกลับมาว่า “อยู่ระหว่างแผนการศึกษามอเตอร์เวย์” อยู่แล้ว อุดรธานีไม่ได้รับการสนับสนุน เพื่อรอแผน “มอเตอร์เวย์” ที่ 20 ปียังไม่มีแผน
โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 กรมทางหลวงได้สรุปการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP วางโครงข่าย “มอเตอร์เวย์-รถไฟ” ทั่วประเทศ 6,877 กม. มูลค่ารวม 6.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นระยะ 5-10-15-20 ปี โดยระยะ 20 ปี (2576-2585) ระบุมี 9 โครงการ ในภาคอีสานมีเพียง เส้นทางนครราชสีมา-ขอนแก่น 204 กม. และเส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี 299 กม. โดยยังไม่ถึง จ.อุดรธานี. หรือจนไปถึง พ.ศ.2585 มอร์เตอร์เวย์จะไม่ถึงอุดรธานี
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดเพื่อชี้แจงผลการรวบรวมข้อมูลโครงการ (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 1) การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาจร าจรบริเวณเขตเมืองในภูมิภาค มีนายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ ผู้จัดการโครงการนำทีมคณะที่ปรึกษา ชี้แจงรายละเอียดโครงการ
โดยมีผู้แทนแขวงทางหลวงอุดรธานี 1-2 นำหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคเอกชน ตัวแทนหน่วยงานและองค์กร ในพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอ คือ อ.เมือง , อ.กุมภวาปี , อ.บ้านผือ และ อ.บ้านดุง ร่วมประชุมรับทราบรายละเอียด แนวเส้นทางเบื้องต้นในพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม แก้ไขข้อมูลที่ไม่ตรงกัน แสดงความคิดเห็น ตลอดจนซักถามข้อสงสัย
ทีมที่ปรึกษารายงานชี้แจงว่า การศึกษาครอบคลุม 77 จังหวัด 200 พื้นที่ เพื่อทำการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจ , ด้านกายภาพ และด้านขนส่งและจราจร ผลการพิจารณาเบื้องต้นได้พื้นที่เหมาะสม 50 อันดับ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดย จ.อุดรธานี มีรวม 4 พื้นที่ คือ โครงการทางเลี่ยงเมือง อ.กุมภวาปี , อ.บ้านดุง , อ.บ้านผือ และ อ.เมือง
การศึกษาได้กำหนดแนวเส้นทางโครงการเบื้องต้น ทางเลี่ยงเมืองทั้ง 4 อำเภอ เริ่มจากจะมีลักษณะคล้ายวงกลม , ที่เส้นทางจะต้องหลีกเลี่ยงโบราณสถาน , วัด , โรงเรียน และชุมชน และอื่น ๆ , จากนั้นจะต้องคำนวณจำนวนการจราจรในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เพื่อกำหนดว่าจะเลือกเส้นทางใดก่อสร้างก่อน หลัง หรือไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งทั้งหมดจะต้องต้องเก็บรวบรวมข้อมูล อาจจะไม่ใช่เส้นทางตามที่ร่างเสนอ ซึ่งจะนำข้อมูลในวันนี้ไปรวบรวม นำเสนอในประชุมกลุ่มย่อยที่ 2 ในราวปลายปีนี้
การศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงแนวทาง ต่อไปจะต้องของบประมาณศึกษาความเหมาะสมราว 2 ปี และของบประมาณศึกษาออกแบบรายละเอียดอีก 2 ปี จึงจะได้เห็นแนวถนนชัดเจน ว่าจะผ่านไปทางไหนบ้าง ที่ดินผืนไหม หมู่บ้านใด พื้นที่เท่าใด เข้าสู่กระบวงการจัดหาที่ดินและการก่อสร้าง ของรับโครงการ 10-15-20 ปี
ขณะที่ประชุมได้ใช้ข้อมูลเพิ่มเติม ที่ยังไม่ปรากฏในการรายงานของที่ปรึกษา อาทิ แนวถนนใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ , แนวทางตามผังเมืองรวมของทางหลวงชนบท , โบราณสถานเพิ่มเติม , พื้นที่ของรัฐทั้งเขตป่าสงวน-เขตทหาร-เขตชลประทาน-พื้นที่ทับซ้อนยังไม่สอบสวนสิทธิ , การขวางทางไหลของน้ำ , พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม , ผังเมืองที่ศึกษาออกแบบทางเลี่ยงเมืองไว้แล้วที่ อ.กุมภวาปี อ.บ้านผือ และกำลังดำเนินการที่ อ.บ้านดุง และอื่น ๆ