ที่ปรึกษา รมว.เกษตร ติดตามความพร้อมอุดรฯ รับการประเมินขอจัด “พืชสวนโลก 2569” โดยการขอใช้พื้นที่ “หนองแด” ต้องผ่าน ครม.เพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำท้องถิ่น
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 มกราคม 2565 ที่ห้องประชุมคำชะโนด ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อม เสนอตัวรับเป็นเจ้าภาพพืชสวนโลก ปี 2569 มีนายจำรัส กังน้อย รอง ผวจ.อุดรธานี นำนางขนิษฐา โกวิทยากร เกษตรสหกรณ์ จ.อุดรธานี นายอเนก รักษ์รองใต้ เกษตร จ.อุดรธานี ตัวแทนชลประทาน จ.อุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงและตอบคำถาม
ที่ประชุมรายงานว่า แผนการเตรียมพื้นที่ นอกจากโครงสร้างอาคารสถานที่ ยังแบ่งหนองแดออกเป็น 4 โซน คือ โซน 1 ประกอบด้วย จุดทางเข้า-ลานบ้านเชียง-ป่าบึ่งป่าทาม-วิถีชีวิตชาวริม น.โขง , โซน 2 สวนพืชน้ำ (บัวแดง)-พืชน้ำไล่ระดับความลึกของน้ำ , โซน 3 นวัตกรรมพืชสวน-เทคโนโลยีการเกษตร-อาคารเรือนกระจก , โซน 4 สวนนานาชาติ 20 ประเทศ รวมทั้ง “เศรษฐกิจพอเพียง” และการเตรียมพื้นที่เพาะชำ-พักฟื้นต้นไม้นอกพื้นที่ ทั้งพื้นที่โลง และพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิ
การเตรียมความพร้อมเรื่องระบบน้ำช่วงการจัดงาน 134 วัน โดยพื้นที่หนองแดมีความจุ 2.7 ล้าน ลบม. จะใช้น้ำผลิตประปา 4 หมู่บ้าน และวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรกรรม ในช่วงฤดูแล้งจะมีสภาพน้ำน้อย กำหนดแผนจะต้องสร้างฝายพับได้ควบคุมน้ำ บริเวณฝายเดิมท้ายหนองแดง มีพื้นที่สำรองน้ำ 2 ส่วน คือ สูบจากอ่างฯหนองสำโรง ความจุ 4.3 ล้าน ลบม. มาตามคลองส่งน้ำ และระบายน้ำจากอ่างฯห้วยหลวง ความจุ 135 ล้าน ลบม. มาตามคลองส่งน้ำมาที่อ่างฯหนองสำโรง
นายจำรัส กังน้อย รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า คลังจากที่ ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการ และเห็นชอบกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท เพื่อจัดงานพืชสวนโลก พ.ศ.2569 ที่ “หนองแด” จ.อุดรธานี เราได้จัดตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมการจัดการ และแต่งตั้งคณะทำงานออกเป็น 6 คณะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียม การตรวจพื้นที่ของคณะกรรมการ 13-15 ก.พ.นี้ และการเดินทางไปร่วมงานพืชสวนโลกที่ “ดูไบ” 6-12 มี.ค.นี้เช่นกัน ปัญหาและอุปสรรคในช่วงนี้ คือการเสนอขอใช้พื้นที่ “หนองแด” ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำท้องถิ่น จะต้องเห็นชอบจาก ครม.
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ก็ได้ลงพื้นที่มาติดตามความคืบหน้า เพราะเป็นโค้งสุดท้ายแล้ว เพราะว่าเดือนหน้าทางคณะกรรมการพืชสวนโลกก็จะลงพื้นที่มาประเมิน แล้วเดือนมีนาคมที่จะถึงทางคณะทำงาน ต้องเดินทางไปดูงานพืชสวนโลกที่ดูไบ เพื่อเสนอโครงการอย่างเป็นทางการ แล้วก็เดือนมีนาคมที่จะถึงก็จะมีการประกาศผล ซึ่งก็มาดูการออกแบบตามคอนเซ็บที่รัฐมนตรีเห็นชอบ จึงเดินทางมาเป็นกำลังใจให้กับทาง จ.อุดรธานี และทีมงาน
“ ได้ให้ข้อแนะนำในเรื่องของการจัดงาน เมื่อได้อนุมัติเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ในระดับโลก ยังไม่มีใครมาแข่งขันกับ จ.อุดรธานี จึงอยากใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์ จ.อุดรธานี และภาคอีสานให้มากที่สุด ซึ่งหน่วยงานพร้อมที่จะสนับสนุนที่จะโฆษณา และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยว นักลงทุน และนักการค้าที่จะมาร่วมงาน ซึ่งอุดรธานีได้ร้องขอในเรื่องสนับสนุน หลังจากที่อนุมัติแล้ว เช่น เรื่องจะต้องมีการเตรียมพร้อมระบบน้ำ และระบบชลประทาน หรือว่าในเรื่องของการปรับปรุงดิน ซึ่งมีบางพื้นที่ในโครงการเป็นดินเปรี้ยว และดินเค็ม รวมไปถึงในการสนับสนุนเรื่องของทางวิชาการ ซึ่งก็จะนำรูปแบบใหม่ในโซนต่างๆ ”