เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 นายวีระพงษ์ เต็มรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นตัวแทน ภาครัฐและเอกชนของ จ.อุดรธานี ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ชะลอการถ่ายโอนท่าอากาศยานอุดรธานี จากกรมท่าอากาศยาน (ทย. ) ไปให้ บ.ท่าอากาศยานไทย จก.(มหาชน) เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ ที่มีกระแสข่าวจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในช่วงต้นมกราคม 2565
หลังจากก่อนหน้านี้ เทศบาลนครอุดรธานี , สภาอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี , หอการค้า จ.อุดรธานี , ชมรมธนาคาร จ.อุดรธานี , สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.อุดรธานี , สมาคมอสังหาริมทรัพย์ อุดรธานี , สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี , สมาคมนักธุรกิจไทยเวียดนามแห่งประเทศไทย , สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.อุดรธานี นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ (Young FTI) จ.อุดรธานี , ตัวแทนภาคประชาชนอุดรธานี และตัวแทนผู้สื่อข่าว ได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล ในเรื่องดังกล่าว เมื่อ 30 พ.ย.64 ณ ห้องประชุมเวสสุวัณ เทศบาลนครอุดรธานี และมีข้อสรุปจากที่ประชุมดังนี้
1.ท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งมีบริหารโดยกรมท่าอากาศยาน ได้มีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ อาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน ลานจอดอากาศยาน ระบบช่วยเดินอากาศ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบริการเครื่องบินทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานของ องค์กรการบินพลเรือน ระหว่างประเทศ (ICAO ) และสามารถสร้างรายได้ที่ดีกับภาครัฐโดยตรง พร้อมกับภาคธุรกิจเอกชนใน จ.อุดรธานี เห็นว่าท่าอากาศยานอุดรธานี มีโอกาสจะพัฒนาเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ระดับต่างประเทศได้อีก เป็นองค์กรที่สามารถยกระดับสนามบินอุดรธานี ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติอยู่แล้ว สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับภูมิภาค ดึงดูดนักท่องเที่ยวนักลงทุนมายังภูมิภาคอีสานตอนบน 1 ได้อย่างดี ทางภาคธุรกิจเอกชน จึงอยากจะขอรับทราบนโยบาย และแผนทิศทางในการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานีในอนาคต จากกรมท่าอากาศยานโดยตรง เพื่อที่จะได้เข้าใจในนโยบาย และการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคอีสานตอนบน 1
2.ท่าอากาศยานอุดรธานี ถือว่าเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐพึงจัดให้เพื่อบริการประชาชน ซึ่งถือว่าประชาชนในจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับผลกระทบโดยตรง จากนโยบาย ทิศทางการ บริหารงานของท่าอากาศยานอุดรธานี จึงมีความเห็นว่า ในการบริหารงานในอนาคต ควรมีการจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบไปด้วย ผู้บริหารของท่าอากาศยาน ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนจากประชาชนและชุมชนที่ท่าอากาศยานตั้งอยู่ เป็นต้น
3.ตามที่มีข่าวเผยแพร่มาโดยตลอดว่า บ.ท่าอากาศยานไทย จก.(มหาชน) หรือ ทอท. จะขอเข้าบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานีนั้น ที่ประชุมมีความกังวล และมีความไม่ชัดเจน ในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ งบประมาณที่สูง และมีความต่อเนื่องในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การบริการต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชนอุดรธานีจะได้รับ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้เข้าไปใช้บริการจะได้รับผลกระทบ รวมถึงโอกาสในการ ยกระดับสนามบินเพื่อรองรับโอกาสต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ อาจจะสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจในสนามบิน รวมถึงความไม่ชัดเจนในวิธีการคัดเลือก ทอท. ให้เข้ามาบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี
ทางภาคเอกชน และเทศบาลนครอุดรธานี มีความประสงค์ขอความกรุณาจากท่าน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ชะลอการดําเนินการ โอนย้ายการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานีไปสู่ บ.ท่าอากาศยานไทย จก.(มหาชน) และขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นตัวแทนทางราชการ ทบทวน ศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ของแนวทางการการบริหาร และการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ได้เข้ามารับทราบข้อมูลและ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว โดยยึดหลักปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคประชาชนสูงสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ในสถานการณ์ปกติ การเติบโตท่าอากาศยานอุดรธานีสูงมาก ทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่ จ.เพชรบูรณ์ และ จ.หนองคาย ปลายปี 2561 มีมติให้พัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี ด้วยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 แต่ที่ผ่านมาข่าวการถ่ายโอนท่าอากาศยานอุดรธานี ที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องหลายครั้ง ทำให้แผนการพัฒนาสะดุดทุกครั้ง ….