เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ที่หน้า สภ.กุดจับ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี นายแต่ง นามวงษ์ อายุ 71 ปี อดีต ผจก.สถาบันการเงินชุมชนห้วยเชียง-หนองอีเป้า และนางสาวชนัญชิดา จันทร์โพนงาม อายุ 42 ปี ชาวบ้านห้วยเชียง ม.1 ต.ขอนยูง อ.กุดจับ ตัวแทนสมาชิกสถาบันการเงินฯ นำสมาชิกสถาบันการเงินดังกล่าวราว 50 คน ที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ต.ขอนยูง และ ต.กุดจับ ถือป้ายขอความเป็นธรรม การบริหารงานของคณะผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนห้วยเชียง-หนออีเป้า ไม่โปร่งใส ก่อนทยอยเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.องอาจ ปลัดขวา สว.(สอบสวน) สภ.กุดจับ โดยมีนายพรศักดิ์ มีธรรม ปลัดอาวุโส หน.ศูนย์ดำรงธรรม อ.กุดจับ มาร่วมสังเกตการณ์
ทั้งนี้สมาชิกฯหรือชาวบ้าน 2 ตำบล ถูกคณะผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนห้วยเชียง-หนองอีเป้า เบี้ยวเงินค่าฌาปนกิจผู้สูงอายุ , เงินฌาปนกิจผู้กู้ , และเงินออมสัจจะวันละบาท หลังจากมีสมาชิกเสียชีวิตไปรวม 25 ศพ เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 และจะได้เงินศพละ 70,000-100,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2-2.5 ล้านบาท ทำให้สมาชิกที่ออมเงินวันละบาท และสมาชิกนำเงินมาร่วมลงทุนปล่อยกู้กับสถาบันฯ เกิดความไม่มั่นใจในการบริหาร ทยอยกันลาออกจากการเป็นสมาชิกหลายร้อยคน เพื่อต้องการเงินออมและเงินลงทุนคืน
แต่ทางผู้บริหารสถาบันการเงินฯ บ่ายเบี่ยงและไม่ยอมชี้แจงถึงเหตุผล ที่ไม่มีเงินจ่ายคืนให้สมาชิก ส่วนเงินฌาปนกิจศพ 2 หมวด บางรายได้มาบางส่วน แต่ก็ถูกหักค่าดำเนินการไป 30 เปอร์เซ็นต์ ผ่านไป 3-4 เดือน ถึงจะได้เงินส่วนที่หักกลับคืน แต่บางรายยังไม่ได้เลยแม้แต่บาทเดียว แถมบางรายที่ตายก่อนแต่ได้เงินหลังที่ส่อถึงความไม่โปร่งใส และไม่มีความเป็นธรรมกับสมาชิก หลังจากที่นายแต่ง นามวงษ์ อดีต ผจก.สถาบันการเงินชุมชนห้วยเชียง-หนองอีเป้า ได้ลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อ 4 ปี ที่ผ่านมา
ทำให้เรื่องนี้ค่อยๆแพร่สะพัดไปยังสมาชิกตามหมู่บ้าน 2 ตำบล ที่มีมากกว่า 1,000 คน ทยอยพากันเดินทางไปที่สถาบันการเงิน เพื่อขอลาออกและถอนเงินถอนหุ้นคืน แต่ทางสถาบันการเงินไม่มีเงินคืนให้ตามระเบียบที่ตกลงกันไว้ กระทั่งวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ตัวแทนสมาชิกตามหมู่บ้านได้เข้าร้องเรียนต่อ ศูนย์ดำรงธรรม อ.กุดจับ และได้เชิญผู้บริหารสถาบันการเงินคู่กรณีมาพูดคุย และนัดทั้ง 2 ฝ่าย นำหลักฐานมาชี้แจง เพื่อเป็นกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย หากสมาชิกฯหรือชาวบ้านไม่สบายใจ ก็ให้ทยอยเข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่โรงพัก เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
ต่อมาเวลา 12.00 น. วันเดียวกัน ที่ศาลารวมกุศล วัดบรมสมภรณ์ ม.10 บ.หนองแวงคำ ต.กุดจับ อ.กุดจับ แกนนำสมาชิกได้ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือสมาชิกฯ ที่ทราบข่าวเดินทางมาประมาณ 50 คน เพื่อคัดแยกสมาชิกทั้ง 3 หมวด และรวบรวมรายชื่อและหลักฐานแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน พร้อมกับชี้แจงในขั้นตอนการดำเนินการให้รับทราบ ส่วนที่เหลือหลายร้อยคนตามหมู่บ้านต่างๆ ให้รวบรวมรายชื่อและหลักฐานให้ตัวแทนทยอยเข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.กดจับ ก่อนจะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.กุดจับ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 นี้
นายแต่ง นามวงษ์ อดีต ผจก.สถาบันการเงินชุมชนห้วยเชียง-หนออีเป้า เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันการเงินฯแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 หลังได้เห็นชาวบ้านเดือดร้อนในความเป็นอยู่ ต้องไปกู้ยืมจากนายทุนนอกระบบ ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง จึงได้ปรึกษากับ ธกส. พร้อมกับแนะนำการบริหารจัดการเงิน ก่อนอนุมัติวงเงินให้ตนมาลงทุนสถาบันการเงินฯ จำนวน 2 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกถึง 1,500 คน ก่อนที่จะมาแยกหมวดเพิ่มจากสมาชิกเงินออม เงินกู้ มาเป็นฌาปนกิจผู้กู้ และฌาปนกิจผู้สูงอายุ ที่สมาชิกต้องจ่าย 100 บาท/ราย หากสมาชิกเสียชีวิต เพื่อเป็นการช่วยเหลือไม่เป็นภาระกับญาติพี่น้องและลูกหลาน เวลาเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการไปได้ด้วยดีมีกำไร มีเงินปันผล และเงินจ่ายให้สมาชิกทุกหมดไม่เคยขาด
”แต่เมื่อช่วงปี 2562 มีสมาชิกเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับเงินตามระเบียบของสถาบัน ตนจึงสอบสวนหาสาเหตุจากกรรมการและรองผู้จัดการ ก่อนนำเงินไปมอบให้กับสมาชิก แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีก เมื่อคณะผู้บริหารไม่เชื่อฟังในการบริการการขับเคลื่อน หรือทำตามกฎระเบียบของสถาบันฯ ตนจึงขอประกาศลาออกจากตำแหน่งนับตั้งแต่นั้นมา รวม 4 ปี แต่ที่ทางสถาบันไม่ยมถอดชื่อตนออกจากตำแหน่ง ทางผู้บริหารให้เหตุผลว่าทาง ธกส. จะไม่ให้เรากู้เงินเพิ่มอีก หากเกิดมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งมันก็เป็นความจริงว่า หากไม่ใช่ตนไปกู้ หรือไม่ครบองค์ประกอบ เขาก็ไม่ให้กู้เงินตามระเบียบของธนาคาร และเมื่อมันเกิดปัญหาและทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ก็ต้องมีการร้องศูนย์ดำรงธรรม และแจ้งความตามขั้นตอนของกฎหมาย”
นางสาวชนัญชิดา จันทร์โพนงาม ตัวแทนสมาชิกสถาบันการเงินฯ เล่าว่า ตนก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสถาบันการเงินแห่งนี้ ขณะนี้มีสมาชิกเหลืออยู่ประมาณ 1,200 คน จากเดิม 1,500 คน และวันนี้ได้พาสมาชิกหมวดฌาปนกิจทั้ง 2 หมวด เข้าแจ้งความ 25 ราย หลังจากทางสถาบันการเงินฯ บ่ายเบี่ยงในการจ่าย บางรายยังได้เงินไม่ครบ แต่ก็ถูกหักไป 30 เปอร์เซ็นต์ และนัดจ่ายคืนอีกครั้ง 3-4 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้ครบจำนวน บางรายยังไม่ได้เงินเลย และบางรายได้ช้ากว่าคนที่ตายทีหลัง ที่ส่อถึงความไม่โปร่งใสและไม่มีความเป็นธรรม ทำให้สมาชิกเกิดความไม่สบายใจ
จึงทยอยกันลาออกจากการเป็นสมาชิกหลายร้อยคน และเมื่อไปขอเงินลงทุนกู้ และเงินออมคืน ทางสถาบันก็ไม่มีคืนให้ นัดแล้วก็เลื่อนไปอีก จนได้ไปร้องศูนย์ดำรงธรรม อ.กุดจับ จนมีการนัดเจจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งในวันที่ 30 มิถุนายน นี้ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านหรือสมาชิกเพียงต้องการเงินฌาปนกิจศพ ในสิทธิที่ตนพึงจะได้รับ และเงินในส่วนที่ร่วมลงทุนและออมกลับคืนเท่านั้น หากไม่ได้คืนคงจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายขอตามขั้นตอนของกฎหมาย
”และที่ทำให้ชาวบ้านหรือสมาชิกขาดความมั่นใจ ก็เพราะว่า ผู้จัดการสถาบันฯลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จึงทำให้สมาชิกฌาปนกิจลดลง และบางคนก็หยุดส่งเงินเมื่อมีคนเสียชีวิตรายละ 100 บาท ตามกฎระเบียบ และผู้เสียหายทุกคนให้เหตุผลว่า การบริหารของสถาบันไม่โปร่งใส และไม่มีความเป็นธรรม ไม่เหมือนกับตอนมีผู้จัดการบริหารอยู่”
ด้าน นายพรศักดิ์ มีธรรม ปลัดอาวุโส อ.กุดจับ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาสังเกตการณ์ หลังมีชาวบ้านมารวมตัวกัน ที่หน้า สภ.กุดจับ เพื่อแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน หลังจากวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.กุดจับ และได้มีการพูดคุยไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีไปแล้วในเบื้องต้น และได้นัดกันอีกครั้งในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพื่อให้รวบรมนำหลักฐานมาชี้แจง และอยู่ในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพากกันทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าตกลงกันได้ก็จะมีการชดใช้กัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับทางตำรวจได้
”ในการเข้าแจ้งความครั้งนี้ ก็เพื่อความสบายใจ เนื่องจากจะได้มีหลักฐานในการขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูล และเอกสารต่างๆได้ ในส่วนการจัดตั้งสถาบันการเงินนั้น ก็จะตรวจสอบว่าได้ขอถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมตรวจสอบ ซึ่งก็จะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย”
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อขณะผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนห้วยเชียง-หนองอีเบ้า ม.5 ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เพื่อให้ชี้แจงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่กลับถูกปฏิเสธในการชี้แจงและให้ข้อมูล หลังจากผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ทำการสถาบันการเงินฯ และทราบว่าที่ทำการปิดให้บริการในวันจันทร์ พุธ และวันศุกร์……