ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่รอบโรงงานยางแท่ง โรงงานยางเครฟ โรงรับซื้อยางก้อนถ้วย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยาวนานมามากกว่า 7 ปี ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เด็ดขาด และกำลังเป็นสิ่งที่ท้าทายอีกรอบ กับมาตรฐานกลิ่นโรงงานยาง จะมีผลวันที่ 16 เมษายนนี้
(20 ม.ค.63) ที่ห้องประชุมราชพฤกษ โรงแรมสยามแกรนด์ แยกบายพาตอุดรธานี-สกลนคร ทต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดเวทีเสวนา พัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กรณีโรงงานผลิตยางแท่งในพื้นที่ ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่ง ม.วงศ์ชวลิตกุล นครราชสีมา รับการสนับสนุนจาก สนง.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เข้ามาดำเนินการ โดยมีตัวแทนพื้นที่รับผลกระทบในภาคอีสานเข้าร่วม 7 พื้นที่
นางกิตติชา ธานีเนียม หรือครูเตี้ย แกนนำกลุ่มรักหนองนาคำ เล่าถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่รอบโรงงานยางแท่งขนาดยักษ์ 2 โรง ริมถนนนิตโย ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี ว่าเข้ามาสู่ปีที่ 8 แล้ว ชาวบ้านที่เดือดร้อนออกมาเรียกร้องสิทธิ ไม่ได้มาขับไล่ให้โรงงานย้ายออกไป ต้องการให้เขาแก้ไขปัญหา แต่ก็แก้ปัญหาให้เด็ดขาดได้ ชาวบ้านจึงต้องมาร่วมกัน เก็บข้อมูลที่จะอธิบายทางวิทยาศาสตร์ มาจนถึงวันนี้ยังมีกลิ่นเหม็นอยู่
“ มีชาวบ้านป่วยระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงภูมิแพ้อย่างรุนแรง หลายคนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น บางคนไม่มีกำลังเงินพอจะย้ายหนี การเรียกร้องสิทธิรับการเยียวยา ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะแพทย์ผู้ตรวจรักษาไม่ลงความเห็น ต้นเหตุของอาการเจ็บป่วย ขณะนี้เรามีความหวังว่ามาตรฐานกลิ่น โรงงานยางพาราใหม่ที่จะมีผลวันที่ 16 เมษายนที่จะถึงนี้ คือที่ปล่องไม่เกิน 2,500 หน่วย ที่ริมรั้วไม่เกิน 30 หน่วย มีการบังคับใช้จริงจังและมาตรฐาน ”
ขณะตัวแทนภาครัฐ ชี้แจงว่า โรงงานยางแท่งไม่ถูกกำหมด จะต้องจัดทำ อีไอเอ. ทำเพียงการรับฟังความคิดเห็น ที่ผ่านมาถูกร้องเรียนเรื่อง น้ำเสีย และกลิ่น สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ได้ร้องขอและมีคำสั่งให้ปรับปรุง อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง แต่ความเดือดร้อนก็ยังไม่หมดไป ซึ่งจะต้องแก้ไขต่อ ขณะการเรียกร้องให้ รง.เยียวยาตาม ม.96 พรบ.สิ่งแวดล้อม จากการที่ยังไม่สามารถชี้ชัดสารตัวปัญหา ซึ่งทางวิชาการจะต้องศึกษาอย่างละเอียด
รวมทั้ง รพ.สต.หนองนาคำ รายงานชี้แจง ว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบกับสุขภาพ อาการเบื้องต้นทั่วไป ตามรายงานการตรวจสุขภาพ คือ ปากแห้ง คอแห่ง ระบบทางเดินหายใจ ส่วน อบต.หนองนาคำ ระบุ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ลงสอบสวนข้อเท็จจริง นำผลการวิเคราะห์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหนังสือโรงงานไปเมื่อ ธันวาคม 2561 (ครั้งเดียว) ตาม พรบ.เหตุเดือดร้อยรำคาญ โรงงานก็ได้รายงานผลการปรับปรุงมา ยังไม่ได้ดำเนินการต่อ
ทั้งนี้ตัวแทนจาก รง.ยางแท่ง “ศรีตรัง” ชี้แจงว่า โรงงานต้องการอยู่กับชุมชน และได้เลือกเอาเทคโนโลยีดีที่สุดมาใช้ ตั้งแต่ชาวบ้านเดือดร้อน และมีการร้องเรียน ทางโรงงานได้แก้ไขอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ่อน้ำเซรั่ม และบ่อบำบัดน้ำเสีย ได้ขยายกำลังให้เพียงพอ , เรื่องกองยางก้อนถ้วย และยางเครป ไม่ได้กองอยู่กลางแจ้ง ส่วนกระบวนการผลิต จากเดินให้เทคโนโลยี “พลาสม่า” ก็เปลี่ยนเป็น “เวสสครับเบอร์” และล่าสุดเป็น “ไบโอสครับเบอร์”
สำหรับตัวแทนจากชุมชน ที่ได้รับความเดือดร้อน จากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในภาคอีสาน 7 พื้นที่ ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า พรบ.โรงงานอุตสาหกรรมที่ปรับปรุงใหม่ เหมือนกับจะให้อำนาจประชาชนลดลง ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้ บางพื้นที่เดือดร้อนมา 30-40 ปี ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ จึงต้องออกมาต่อต้านไม่ให้สร้างโรงงาน
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า รู้สึกสงสารชาวบ้านรอบโรงงาน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่น และเกิดขึ้นมาต่อเนื่องกว่า 7 ปีแล้ว และรู้สึกเจ็บปวด และอาย เมื่อได้อ่านไลน์กลุ่มชาวบ้าน ความเห็นส่วนตัวอยากให้ รง.ตัดสินใจ ขยับขยายออกไปภายในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ระหว่างนี้ก็ต้องช่วยแก้ไขกันเต็มที่ และขอให้ชาวบ้านที่เดือดร้อน ทุกครั้งได้รับผลกระทบ ให้แจ้งไปยัง อบต.อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นข้อมูลเป็นทางการ
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี ยังขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เดินทางลงไปสัมผัสข้อเท็จจริงในพื้นที่ ไปร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา เยี่ยมเยือนชาวบ้าน ทำบุญกับวัดในพื้นที่ หรือไปรับประทานอาหาร จะได้สัมผัสกับความเดือดร้อน ไม่ต้องนัดหมายกันไปล่วงหน้า คิดถึงกันเมื่อไหร่ ผ่านไปตอนไหนก็แวะเข้าไป…
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ราคายางในตลาดโลกไม่ดี ปริมาณยางมีมากกว่าความต้องการ ทำให้โรงงานยางแท่ง 2 โรง ที่ ต.หนองนาคำ ลดกำลังผลิตลง โดยโรงที่หนึ่งเป็นโรงงานยางแท่ง 1 ชุด ลดกำลังผลิตลง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรงงานที่สอง เป็นโรงงานยางแท่ง 3 ชุด ลดกำลังผลิตลงเหลือเพียง 1 ชุด และผลิตเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ชาวบ้านก็ยังระบุว่าเหม็นอยู่ ทั้งนี้โรงงานยางเครฟ ที่ ต.ผักตบ อ.หนองหาน ก็แจ้งปิดโรงงานไปแล้ว หลังจากชาวบ้านรวมตัวกดดันหลายครั้ง….