วันศุกร์, ธันวาคม 27, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมกรอ.อุดรทวงเงินสร้างสนามแข่งกีฬาแห่งชาติ

กรอ.อุดรทวงเงินสร้างสนามแข่งกีฬาแห่งชาติ

กรอ.อุดรธานี ทวงงบสร้างสนามกีฬาระยะ 2 เพื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติ 19-29 ธ.ค.69 ระยะแรกสร้างไปแล้ว 30 % ทวงถามแล้วเงียบตั้งแต่ปี 62 พอถึงงบปี 68 บรรจุเข้าแผนแต่ถูกตัดออก

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.)อุดรธานี มีนายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย นายธนพล กองทรัพย์ไพศาล ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี พ.ท.วรายุต์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี ผู้แทนสมาคมธนาคารอุดรธานี ผู้แทนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี คณะกรรมการองค์กรภาคเอกชนอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

อุดรธานีให้ความสำคัญการประชุม กรอ. ด้วยการจัดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งที่สามารถประชุมได้ปีละ 6 ครั้ง เพื่อติดตามโครงการและแผนงาน ที่ภาคเอกชนผลักดันหรือสนับสนุน เริ่มจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รายงานมีนักลงทุนเข้าซื้อพื้นที่ และก่อสร้างโรงงานแล้ว 55 ไร่ คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ขณะที่การก่อสร้าง ระบบขนส่งทางราง ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งสินค้าต่ำ ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมให้บริการ ส่วนปัญหาอุปสรรคยังคงเป็นเรื่อง “สิทธิประโยชน์” ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้รับสิทธิเท่าเมืองชายแดน พร้อมกันนี้ได้เสนอให้สร้างถนน ขนานทางรถไฟเพิ่มเติม จากที่สร้างไปแล้ว 1 กม. และขอขยายไปอีก 1.892 กม. ที่ประชุมให้ตั้งคณะทำงานไปดูรายละเอียด

ด้านการท่องเที่ยว น.ส.กนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผอ.ททท.สนง.อุดรธานี แจ้งว่า ททท.สนง.อุดรธานี ร่วมกับ ททท.สนง.คุนหมิง และ ททท.สนง.กวางโจว ประเทศจีน ได้เชิญชวนผู้ประกอบการท่องเที่ยว นำนักท่องเที่ยวจากจีนมาอุดรธานี เดิมมีจากจีนมาลงเครื่องบินที่เวียงจันทน์ ท่องเที่ยวใน สปป.ลาว และข้ามมาอุดรธานี 2 วัน เพื่อท่องเที่ยว “วัดหลังคาสีฟ้า” หรือวัดป่าภูก้อน และ “เลดโลตัส” หรือทะเลบัวแดง และอาหารจานโปรดคือ “ปลาเผาทาเกลือ” โดยมีแผนจะบินจากคุนหมิงมาอุดรธานี ในราว ม.ค.2568 แต่จากการประสานงานมีอุปสรรค จีนไม่สามารถจัดหาเที่ยวบินได้ จึงจะเลื่อนไป ก.พ.2568 ทำให้อุดรธานีมีเวลาเตรียมความพร้อมเรื่องภาษา และเรื่องการจ่ายเงินผ่านแอฟฯเฉพาะ ซึ่งที่ประชุมให้ประสานกับ มรภ.อุดรธานี+รร.อุดรวิทยา และให้เอกชนประสานธนาคาร

สำหรับการก่อสร้างประตูเมืองล่าช้า นายพรเทพ ศรีวรานันท์ โยธาธิการและผังเมืองอุดรธานี ชี้แจงว่า ผู้รับจ้างกลับมาทำงานแล้ว หลังจากมีการแก้ไขแบบแปลน ให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งตามสัญญาหมดไปแล้วตั้งแต่ ก.ย.2566 แต่จากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ การแก้ไขแบบแปลน ทำให้ต้องขยายเวลาออกไปอีก คาดว่าจะขยายเวลาไปได้ถึงราว เม.ย.68 ซึ่งจะต้องเร่งรัดงานให้เสร็จทัน เพราะหากโครงการนี้ล่าช้าไปจนสิ้นปีงบประมาณ 2568 จะทำให้งบประมาณโครงการนี้นจะตกไป ซึ่งที่ประชุมขอให้เร่งรัดเป็นพิเศษ และขอให้ความสำคัญกับงานช่วง “ยกโครงเหล็ก” พาดข้ามถนน ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเหมือนข่าวใน กทม.

สำหรับการเสนอพัฒนาถนน 3 เส้นทาง โดยไม่มีค่าเวนคืนของนายธนพล กองทรัพย์ไพศาล ประธานหอการค้าอุดรธานี ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดให้กับก่อนงาน “พืชสวนโลก” ที่ทางหลวงชนบทมีแผนงานแล้ว ให้ทันกับงานมหกรรมพืชสวนโลก ประกอบด้วย การพัฒนาถนนเชื่อมทางหลวง 210 กับถนนมิตรภาพ โดยไม่ผ่านทางหลวง 216 (วงแหวนอุดร) ขนานคลองป้องกันน้ำท่วมด้านตะวันตก 9 กม.วงเงิน 50 ล้านบาท , พัฒนาถนนเชื่อมระหว่างถนนมิตรภาพ กับวัดดงหนองตาล ที่สามารถเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยว งานพืชสวนโลก-ตลาดผ้านาข่า-คำชะโนด อ.บ้านดุง-บ้านเชียง อ.หนองหาน 6.8 กม. วงเงิน 35 ล้านบาท , พัฒนาถนนอุดรธานี-สามพร้าว เชื่อมกับถนนมิตรภาพ เริ่มจากหน้า มรภ.สวนสุนันทา ศูนย์อุดรธานี 9.4 กม.50 ล้านบาท

นายวิระชัน ประดับศรี ผอ.กกท.อุดรธานี รายงานที่ประชุมว่า อุดรธานีได้รับการประกาศเป็น “สปอร์ตซิตี้” และได้รับการพิจารณาเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 50 “อุดรธานีเกมส์” จากที่นำเสนอศักยภาพ-ความพร้อมให้พิจารณา ด้วยคาดหวังว่าสนามกีฬาอุดรธานี หรือสนามกีฬาระดับภูมิภาค ต.สามพร้าว อ.เมือง อุดรธานี พื้นที่มากกว่า 268 ไร่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณระยะที่ 1 ดำเนินการไปแล้วเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงสนามฟุตบอล-อัฒจันทร์ 2 ฝั่ง-สนามกลางแจ้ง-บ้านพัก และรองบประมาณระยะที่ 2 แต่ก็ยังไม่ถูกผลักดันตามแผน ทำให้ในปี 2562 อุดรธานีได้ขอให้พิจารณา การก่อสร้างสนามกีฬาระยะที่ 2 วงเงินราว 400 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้รับการบรรจุเข้าแผน จนปี 2566 ได้รับบรรจุเข้าแผน แต่ก็ไม่ได้รับการผลักดัน ล่าสุดงบประมาณปี 2568 ก็ไม่ได้รับการบรรจุ

“ แผนงานระยะที่ 2 มีอัฒจันทร์สนามฟุตบอลเพิ่ม 2 ด้าน , อาคารเอนกประสงค์ 2 หลัง , สระว่ายน้ำ 50 ม. , สนามเทนนิสพร้อมอาคารบริการ , สนามซ้อมกลางแจ้ง , อาคารสำนักงาน , อาคารวิทยาศาตร์การกีฬา , อาคารที่พักนักกีฬา , อาคารที่พักเจ้าหน้าที่ และเสาไฟส่องสว่าง โดยสนามฟุตบอลมาตรฐาน มีความจำเป็นต้องใช้ ในพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน และใช้เป็นสนามแข่งขันกรีฑา ปัจจุบันมีอัฒจันทร์ 2 ด้าน คือ ด้านมีหลักคา และด้านตรงข้าม ยังไม่มีอัฒจรรย์ด้านข้าง 2 ด้าน หากไม่ได้งบประมาณมาทัน จะขอรับการสนับสนุนให้ปรับพื้นที่ บริเวณที่จะสร้างอัฒจันทร์ด้านข้าง 2 ด้าน เพื่อรองรับการติดตั้งอัฒจันทร์ชั่วคราว ที่จะเช่ามาใช้งานในช่วงการแข่งขันแทน ”

ด้านนายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ “อุดรธานีเกมส์” 19 -29 ธ.ค. 2569 และกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 40 “ภูพระบาทเกมส์” 20-26 ม.ค. 2570 อุดรธานีขอสนับสนุนงบพัฒนาสนามกีฬาจังหวัดไปอีกครั้ง และในการเดินทางไปรับธงการแข่งขัน ได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการ จ.จันทบุรี ท่านได้พูดถึงเรื่องที่นักกีฬามาแข่งขัน ยังมีบางส่วนต้องนอนพักในโรงเรียน อุดรฯต้องมาคุยว่าทำอย่างไรกันดี หรือพิธีเปิด อบจ.สนับสนุนมา 30 ล้าน ภาคเอกชนสนับสนุนมาอีก 5 ล้าน ลูกหลานชาวจันทบุรีต้องซ้อมกันหลายวัน แต่เมื่องานได้เปิดกันผ่านไปแล้ว เขาสนใจและจดจำได้เพียง “ศิลปินดัง” ก็ต้องน่าจะมาพิจารณาเรื่องนี้…..

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments