เตรียมชง “ไออีอี.” อ่างฯห้วยเชียงตอนบน อันเนื่องจากพระราชดำริ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ให้ คชก.พิจารณาตุลาคมนี้ ตามกรอบทับป่าอนุรักษ์ไม่เกิน 500 ไร่ ชาวบ้านในพื้นที่ขานรับ หากไม่สดุดไตรมาศ 3-4 ปี 63 เริ่มสตาร์ท
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมที่ว่าการ อ.กุดจับ จัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ ไออีอี. อ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) อันเนื่องจากพระราชดำริ อ.กุดจับ มีนายภคินทร์ รูปไธสง ผอ.สนง.ก่อสร้าง ชลประทานขนาดกลางที่ 5 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน นำหน่วยที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องถิ่น , กำนัน-ผญบ. และประชาชนเข้าร่วมรับฟังผลการศึกษา และแสดงความเห็น
ตัวแทนจาก บ.มหานคร คอนซัลแตนท์ จก. และ บ.ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จก. รายงานผลการศึกษาว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดาริ อยู่บ้านหนองเจริญ ม.7 ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ซึ่งนายหา คำผาย พร้อมราษฎร ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระมหากรุณา ในการดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยขอให้ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ และทรงพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เมื่อ 1 ธ.ค.2549
สำนักงานชลประทานที่ 5 จ.อุดรธานี ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้น เป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก เมื่อพิจารณาแล้วสามารถพัฒนาเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง เพื่อให้เพียงพอความต้องการน้ำของเกษตรกร ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากุดจับ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน ซี.) เนื้อที่ 475 ไร่ เข้าข่ายการจับทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี.) ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษา
ลักษณะโครงการ เป็นการก่อสร้างเขื่อนดิน ระดับสันเขื่อน 260 ม. รทก. สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 600 เมตร สูง 38 เมตร , อาคารระบายน้ำล้นตั้งอยู่ฝั่งขวา ระบายน้ำได้สูงสุด 166.77 ลบม./วินาที , ความจุ 6.36 ล้าน ลบม. ความจุสูงสุด 7.15 ล้าน ลบม. , อาคารท่อส่งน้ำตั้งอยู่ฝั่งซ้าย อัตราการไหล่ออก 10.37 ลบม./วินาที , ระบบส่งน้ำเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต 9 สาย ยาว 20.5 กม. มีพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 4,000 ไร่ ฤดูแล้ง 3,100 ไร่ ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี
มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากเสียง และคุณภาพน้ำผิวดิน ระหว่างการก่อสร้าง , ผลกระทบทรัพยากรป่าไม้ ด้วยการปลูกป่าทดแทน และผลกระทบเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ศึกษากำหนดจะส่งมอบรายงานการศึกษา ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ สนง.นโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในราวเดือนตุลาคม 2562
นายลิเดก จันทร์โพนงาม อายุ 66 ปี ราษฎรบ้านห้วยเชียง 1 ใน 4 ชาวบ้านถวายฎีกา เล่าว่า ในช่วงฤดูฝนราวปี 47 นายหา คำผาย ขณะเป็นประธานบริหาร อบต.ขอนยูง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว , นายสุวิทย์ พนมกุล , ผู้ใหญ่หล่อ พนมกุล เสียชีวิตแล้ว และตนเองเป็นประธานสภา อบต.ขอนยูง เดินทางเข้าไปที่ สำนักราชเลขาธิการ กรุงเทพฯ เพื่อถวายฎีกาขอให้สร้างอ่างฯที่ลำห้วยเชียง หลังจากไปปรึกษากับ “พระอาจารย์ไก่ วัดบ้านนาไฮ” เรื่องการหาแหล่งน้ำให้ชาวบ้าน ท่านฯแนะนำให้ถวายฎีกาในหลวง
“ หลังถวายฎีกาก็มีตัวแทนมาดู เป็นจุดที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนดิน เชื่อมระหว่างภูพานน้อยซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตก กับภูหนองหอยด้านทิศตะวันออก อีก 2 ปีต่อมาก็ได้รับข่าวดีว่า ในหลวงได้รับไว้ในโครงการพระราชดำริ แม้เวลาจะผ่านไปนานมากแล้ว คนที่ไปถวายฎีกาเสียชีวิตไปแล้ว 2 คน แม้ชาวบ้านคิดว่าคงจะไม่ได้ ส่วนตัวคิดมาตลบอดเวลาจะได้ จนองคมนตรีเดินทางมาดูพื้นที่ และมีความคืบหน้ามาจนถึงวันนี้ อุปสรรคต่างๆกก็คลีคลายไปเรื่อยๆ ชาวบ้านทุกคนดีใจมาก ”
นายวีระชัย หลานวงศ์ สารวัตรกำนัน ต.ขอนยูง อ.กุดจับ เปิดเผยว่า เรื่องนี้คุยกันมานานมาก จุดแรกที่จะสร้างมีชาวบ้านกระทบบ้าง สำหรับจุดที่จะสร้างในปัจจุบัน จะเป็นระหว่างภูเขา 2 ลูก เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ไม่มีชาวบ้านเข้าอาศัย หรือเข้าไปยึดครองทำกิน มีการเข้าไปเก็บหาของป่า ในฤดูแล้งก็จะมีน้ำเหลือเป็นช่วงๆ ในฤดูฝนมีน้ำไหลแรง ในอดีตทำให้ฝายแก้งกาพังเสียหาย จึงต้องสร้างเพิ่มทางระบาย ในปีนี้ฝนตกแรงมาก น้ำล้นไหลแรงคันนาพังเสียหายไปหมด ชาวบ้านอยากได้อ่างฯห้วยเชียงตอนบน เพื่อจะมีระบบชลประทาน
นายสมเด็จ จำปี นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สนง.ทรัพยากรป่าไม่ที่ 6 อุดรธานี เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และขอชื่นชมความตั้งใจผู้นำท้องถิ่น ตนเองเคยมาทำงานพื้นที่นี้เมื่อปี 50 ได้พบกับชุมชน 3 หนอง คือ บ้านหนองกุง-บ้านหนองเจริญ-บ้านหนองเม็ก” ช่วงนั้นป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ จากเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นทุกปี ก็ชาวชุมชน 3 หนอง ก็เข้ามาช่วยกันจนสภาพป่าดีขึ้น โครงการอ่างฯห้วยเชียงตอนบน จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านที่นี่ และชาวบ้านที่อยู่ท้ายอ่างฯ
นายภคินทร์ รูปไธสง ผอ.สนง.ก่อสร้าง ชลประทานขนาดกลางที่ 5 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง เปิดเผยว่า ระหว่างการศึกษาจัดทำรายงาน ไออีอี. กรมชลประทานได้ทำงานคู่ขนาดไปด้วย ในการประสานกับกรมป่าไม้ ให้การเตรียมของใช้พื้นที่ หาก ไออีอี.แล้วเสร็จและส่งให้ สผ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไออีอี.ที่ได้รับการรับรอง จะแนบไปกับการขอให้พื้นที่ป่าไม้ ตามแผนงานคาว่าจะขอใช้งบประมาณจาก สนง.คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ปี 2563 เพื่อเข้าเตรียมการในพื้นที่ก่อน