วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมรองอธิบดีกรมชลทักแผนพัฒนา “หนองหานกุมภวาปี 5 ปี”

รองอธิบดีกรมชลทักแผนพัฒนา “หนองหานกุมภวาปี 5 ปี”

งบจ้างที่ปรึกษาทำแผน 5 ปี พัฒนาหนองหานกุมภวาปี 30 ล้านใกล้เสร็จ รองอธิบดีนำสื่อสัญจรลงพื้นที่จริง แผนเสนอสร้างประตูน้ำ-สถานีสูบปิด 8 ลำห้วย ซ่อมสร้างเพิ่มเติมกว่า 1,756 ล้าน รองอธิบดีห่วงสถานีสูบน้ำไฟฟ้า จะเป็นอุปสรรคอนุมัติงบประมาณ ขอข้อมูลทางระบายน้ำอ้อมเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี บ.ท่าม่วง ม.3 ต.เวียงคำ อ.กุมภวาปี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนติดตามโครงการ “ศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี” มีนายจารึก วัฒนโกศัย ผอ.ชลประทานที่ 5 อุดรธานี นายนภดล น้อยไพโรจน์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี นำตัวแทน บ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอน แมนเนจเมนต์ จก.ที่ปรึกษาชี้แจงโครงการ และนำดูพื้นที่ประตูระบายน้ำบริเวณโครงการ

วิศวกรบริษัทที่ปรึกษา ชี้แจงว่า “หนองหานกุมภวาปี” คือจุดรวมน้ำของลำห้วย 8 สาย ถือเป็นต้นน้ำของลำน้ำปาว ไหลไปลงเขื่อนลำปาวที่ จ.กาฬสินธุ์ ปี 2539 กรมส่งเสริมพัฒนาพลังงาน สร้างโครงการนี้ขึ้นมาเรียกว่า “ฝายกุมภวาปี” ประกอบด้วย ประตูควบคุมน้ำขนาดใหญ่ , คันดินยาว 112 กม. , อาคารระบายน้ำ 58 แห่ง , สถานีสูบน้ำ 14 สถานี , คลองส่งน้ำดาดคอนกรีตยาว 111 กม. เป้าหมายพื้นที่ชลประทาน 48,000 ไร่ แต่ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มที่ 106 ล้าน ลบม. เพราะมีน้ำท่วมนอกคันดิน จึงเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 70-80 ล้าน ลบม.

กรมชลประทานรับถ่ายโอนมาปี 2553 ปัจจุบันโครงการผ่านการใช้งานมากกว่า 20 ปี การบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ จึงได้ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ เปลี่ยนเครื่องปั้ม-ท่อ และสร้างคลองส่งน้ำรางยู แทนคลองสี่เหลี่ยมคางหมู และให้ที่ปรึกษามาศึกษาความเหมาะสม ตั้งแต่ 6 พ.ค.60 – 1 ส.ค. 61 วงเงิน 30 ล้านบาท สรุปข้อเสนอ ให้สร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำปากลำห้วย 8 แห่ง , สร้างสถานีสูบน้ำเพิ่ม 9 แห่ง , ปรับปรุงอาคารระบายน้ำ 33 แห่ง , ปรับปรุงคูระบายน้ำ 43 กม. และเปลี่ยนท่อส่งน้ำ 13 กม. ในแผนปฏิบัติการณ์ 5 ปี วงเงิน 1,756 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่เกษตร 20,000 ไร่ และลดพื้นที่น้ำท่วม 21,000 ไร่

วิศวกรบริษัทฯที่ปรึกษา ตอบคำถามด้วยว่า แผนพัฒนาที่เสนอจะไม่กระทบกับ “ทะเลบัวแดง” พร้อมระบุได้นำเสนอแนวทาง การระบายน้ำด้านนอกคันดิน ให้น้ำจาก 8 ลำห้วย ไหลอ้อมหนองหานกุมภวาปี ไปลงยังลำน้ำปาว หลังประตูระบายน้ำได้อีกทางหนึ่ง แต่อยู่นอกเหนือการศึกษา ยังไม่มีรายละเอียดต้องศึกษาเพิ่มเติม และเสนอให้มีการศึกษาความเหมาะสม ฝายบ้านกุดนาค้อ ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี อยู่ท้ายน้ำของลำน้ำปาว จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 10,000 ไร่

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างประตูระบายน้ำ มีสถานีสูบน้ำเข้า-ออก รับมือกับน้ำท่วมพื้นที่ จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้า จะนำค่าใช้จ่ายนั้นมาจากไหน สามารถเบิกจ่ายจากงบได้หรือไม่อย่างไร น่าจะเป็นคำถามในเรื่องการของบประมาณ และขอให้ที่ปรึกษาส่งรายละเอียด ทางระบายน้ำอ้อมหนองหานกุมภวาปี แนการสูบน้ำแก้ไขน้ำท่วมขังมาเพิ่มเติมด้วย

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการฯนี้เกิดมาแล้วกว่า 20 ปี อาคารที่มีอยู่ คลองส่งน้ำ ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก อาคารควบคุมปล่อยน้ำปิดเปิดอัตโนมัติไม่ทำงาน ไม่สามารถส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพได้ พอฤดูน้ำหลากน้ำก็เต็มระบายไปไหนไม่ได้ ภายนอกก็เต็มพื้นที่การเกษตรก็ถูกน้ำท่วมด้วย ทำให้เก็บกักน้ำได้เต็มที่ตามแผน ผลทางการศึกษาคงดำเนินการไม่ได้ทันที จะทำได้ก็ระยะ 4-5 ปี โดยให้สำนักงานชลประทานที่ 5 นำเข้าแผนขอรับการสนับสนุนงบแต่ละปี ตามลำดับความสำคัญ

“ ทำให้อันดับแรกที่จะต้องเร่งทำก็คือ การปรับปรุงปฏิทินการเพาะปลูก เหมือนกับที่ทำกันในภาคกลาง หรือจะเป็นการเลี้ยงปลาน้ำจืด ที่มีราคาดีได้หรือๆไม่ เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร หรือเรื่องบริหารจัดการน้ำ ด้วยปัญหาบุคลากรที่มีจำกัด พื้นที่ในการดูแลตรวจสอบมาก เฉพาะคันดินรอบก็ยาวถึง 111 กม. ทำให้ต้องขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ ใช้ดูแลทรัพย์สินและจัดการน้ำร่วมกัน ”

นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวอีกว่า น้ำไหลเข้ามาในหนองหานกุมภวาปีสูงถึง 600 ล้าน ลบ.ม. กักเก็บได้ไม่ถึง 100 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือส่งต่อไปยังเขื่อนลำปาว ที่ต้องควบคุมน้ำที่นั่นถึง 2,000 ล้าน ลบ.ม. ต่อไปเราต้องเชื่อมระบบการจัดการน้ำที่สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งระบบข้อมูลสารสนเทศ ที่จะต้องทำระบบโทรมาตรการเตือนภัย ต้องมีการเตือนภัยให้ชาวบ้านรู้ถึงสถานการณ์น้ำก่อน ถึงตอนที่มีน้ำมามาก เราเก็บน้ำไม่ได้ เราต้องปล่อยน้ำออกไป ต้องมีการสื่อสารกับด้านล่างที่รับน้ำต่อให้เข้าใจ เพื่อเตรียมการรับมือ

นายเฉลิมเกียรติฯ ตอบข้อซักถามด้วยว่า เมื่อสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยว”ทะเลบัวแดง” แต่จะส่งผลดีให้มีบัวบานมากขึ้น ส่วนระบบนิเวศซึ่งในพื้นที่มีโรงงานน้ำตาล เกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำดี ชลประทานมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ดูว่าปริมาณออกซิเจนมีเท่าไหร่ เพราะนอกจากเกษตรกรใช้น้ำเราแล้ว น้ำประปาของอำเภอก็ใช้จากที่นี่ปีละเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นน้ำที่นี่ต้องสะอาด เราจึงต้องช่วยกันดูแล

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments