ได้ฤกษ์ศึกษาออกแบบ ทางต่างระดับแยกบ้านจั่น ต้องฝ่าด่าน 4 ข้อจำกัด เขตโบราณสถาน-ใกล้จุดตัดทางรถไฟทางคู่/ความเร็วสูง-เขตนิรภัยการบิน-คลองป้องกันน้ำท่วมเมือง
เวลา 10.00 น. วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุม พีโอซี.ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายจำรัส กังน้อย รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานที่ประชุม นำนายเอนก สุวรรณภูเต ผอ.แขวงทางหลวงอุดรธานีที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังคำชี้แจงเริ่มโครงการ สำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 216 (แยกบ้านจั่น) จากตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ประกอบด้วย บ.สแปน จก. และ บ.พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จก.
นายเอนก สุวรรณภูเต ผอ.แขวงทางหลวงอุดรธานีที่ 1 กล่าวว่า โครงการขยายถนนวงแหวนตะวันออก จากหน้าห้างไทวัสดุ-แยกหมอไพโรจน์ จาก 4 ช่องทางแอดฟัลติกเป็น 6 ช่องทางคอนกรีต ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระยะที่ 1 ส่วนระยะที่ 2 จากห้างไทวัสดุ-แยกบ้านจั่น อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ เพราะจะต้องทำการศึกษา จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะอยู่ในรัศมี “โบราณสถาน” โดยการศึกษาครั้งนี้ได้กำหนดให้ มีการศึกษาออกแบบทางต่างระดับแยกบ้านจั่น
ขณะตัวแทนบริษัทฯที่ปรึกษา ชี้แจงว่า การเข้ามาศึกษาออกแบบครั้งนี้ แบ่งทีมรับผิดชอบออกเป็น 2 ส่วน ทีมแรกคือเรื่องของโครงสร้างทางวิศวกรรม ส่วนที่สองคือทีมที่ดูแลเรื่องของการมีส่วนร่วม และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเวทีรับฟังความคิดเป็น 5 ครั้ง เป็นเวทีใหญ่ 3 ครั้งๆแรก 27 เม.ย.64 ชี้แจงโครงการภาพรวม , ครั้งที่ 2 การเลือกรูปแบบ , ครั้งที่ 3 เรื่องการสรุปรูปแบบ ขณะที่มีการประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง เป็นเรื่องการทำความเข้าใจ และผลกระทบที่เกิดขึ้น
คณะที่ปรึกษา ระบุว่า ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีปัญหาบริเวณทางแยก โดยรถที่มาจาก จ.ขอนแก่น ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกมีจำนวนมาก จะต้องมาเลี้ยวขวาบริเวณ 4 แยก เพื่อมุ่งหน้าไปยังแยกสกลนคร และแยกหนองคาย ทำให้ระบบไฟสัญญาณจราจร ประสิทธิภาพไม่เพียงพอ มีปัญหาจราจรแออัดติดยาว ไปจนถึงสะพานลอยคนข้าม หน้า รร.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม มีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยทางต่างระดับ ที่อาจจะเป็นอุโมงค์ หรือทางข้าม หรือทั้งสองรูปแบบ
คณะผู้ศึกษาฯ ยอมรับว่าบริเวณนี้ มีข้อจำกัดในหลายส่วน ที่จะส่งผลกับการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น 1.เจดีย์เก่าที่ตั้งอยู่ระหว่าง รพ.ค่ายฯ กับวัดโยธานิมิต อยู่ห่างจาก 4 แยก 740 ม. จะต้องทำ อีไอเอ. , 2.มีจุดตัดทางรถไฟอยู่ห่าง 4 แยก 450 ม. ที่เป็นจุดที่มีหลายปัจจัย โดยเฉพาะเป็นเส้นทางขึ้นลงเครื่องบิน , 3.โครงการรถไฟทางคู่ผ่านจุดนี้อยู่ระดับพื้นราบ (ไม่ได้ยกสูง) , 4.แต่รถไฟความเร็วสูงผ่านจุดนี้ยกรางรถไฟข้าม (7.50 ม.) , 5.จุดทางพาดรถไฟเป็นแนวนิรภัยการบิน ที่สนามบินอยู่ห่างไปเพียง 2 กม. เบื้องต้นจุดนี้สิ่งปลูกสร้างต้องไม่เกิน 45 ม. ,
ผู้ศึกษาฯ ระบุว่า จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวล เพื่อออกแบบทางต่างระดับบริเวณนี้ ที่อาจจะเป็นทางข้าม หรือทางลอด (อุโมงค์) หรืออาจจะเป็นทั้ง 2 รูปแบบ ยกตัวอย่างรูปแบบหนึ่ง การทำทางลอดจากถนนมิตรภาพ เข้าไปใน ทน.อุดรธานี แล้วทำทางข้ามตามถนนวงแหวน และข้ามไปจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งรูปแบบที่จะต้องนำเสนอ จะมีอย่างน้อย 3 รูปแบบ
ส่วนผู้เข้าร่วมประชุม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 1.แยกบ้านจั่นยังมีคลองระบายน้ำ ตามโครงการป้องกันน้ำท่วมเมือง ในการบริการจัดการน้ำของอ่างฯบ้านจั่น การสร้างทางลอดหรืออุโมงค์ ต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำด้วย , ขอให้พิจารณาเรื่องจุดยูเทินที่เหมาะสม และการศึกษาต้องให้ความสำคัญ การแก้ไขจราจรทั้งในช่วงก่อสร้าง เพราะแยกบ้านจั่นมีจำนวนรถผ่านมา หากบริหารจัดการผิดพลาด จะส่งผลกระทบมหาศาล