แยกบายพาตอุดรธานีเกือบทุกแห่ง มีการศึกษาความเหมาะสมมานานแล้ว เริ่มจากแยกอุดรธานี-ขอนแก่น มีเสียงไม่เอาทางข้ามจะเอาอุโมงค์ ต่อมาที่แยกอุดรธานี-สกลนคร เสียงอยากได้สะพานบนถนนเลี่ยงเมือง แต่ก็ได้สร้างบนถนนนิตโย
และที่กำลังก่อสร้างที่แยกอุดรธานี-หนองคาย ก็ศึกษาออกแบบมานาน ด้วยข้อจำกัดว่า “ไม่มีเวนคืนที่ดิน” สรุปว่าจะสร้างเป็นอุโมงค์ เส้นทาง ทน.อุดรธานี-หนองคาย และทางข้ามบนถนนเลี่ยงเมือง ซึ่งจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง นานมากจนนึกว่าเขาลืมไปแล้ว
อยู่ดีๆก็โผล่ขึ้นมาว่า จะก่อสร้างทั้งทางข้ามและอุโมงค์พร้อมกัน ถือเป็นแห่งแรกในภาคอีสาน งบประมาณ 1,048 ล้านบาท ระยะเวลา 900 วัน หรือราว 2 ปี 5 เดือน สิ้นสุดสัญญา กันยายน 2562 โดยแผนการก่อสร้างจะสร้างถนน-ท่อระบายน้ำ-ฟุตบาท คู่ขนานอุโมงค์กับทางรอดทั้ง 4 ด้านก่อน เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อน ผู้ประกอบกิจการค้าย่านนั้น แต่แผนต้องปรับเปลี่ยน จากปัญหาการย้าย ไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์-สายสัญญาณ ดำเนินการทันทีไม่ได้
ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบธุรกิจมาก แต่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน มีเพียงบ่นดังบ้าง ค่อยบ้าง ไปยังภาครัฐและเอกชน ให้เข้ามาลดความเดือดร้อนลง ขณะปัญหาการจราจรก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นในช่วง ชม.เร่งด่วน , เทศกาล และมีอุบัติเหตุ-รถเสีย ผู้ควบคุมงานต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 9 เดือน
นายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง ระบุว่า ที่ผ่านมางานมีความคืบหน้า เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ จนมาถึงช่วงเดือนที่ผ่านมา เกิดภาวะขาดแรงงาน จากการที่แรงงานส่วนหนึ่ง “หยุดเกี่ยวข้าว” จนถึงช่วงก่อนหยุดเทศกาลปีใหม่ งานจะต้องคืบหน้าไป 63 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การก่อสร้างจริงล่าช้าได้งาน 58 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่าเกณฑ์ 5 เปอร์เซ็นต์ คาดว่างานจะส่งมอบไม่ทันกำหนด อาจจะล่าช้าออกไปราว 2 เดือน โดยในส่วนของทางข้าม จะสามารถทดลองใช้ได้ราวเมษายน 62