ชาวนา 58 ราย 400 ไร่ จ่อฟ้องเองเรียกเยียวยา โรงงานยางแท่ง-โรงงานแป้งมัน แอบระบายน้ำเสียออกลงห้วย แม้ สวล.9 ยันหลักฐานชัด ยังกระต่ายขาเดียว
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยนราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายณัฐพงศ์ วงศ์คำปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหากรณีน้ำเน่าเสียแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เกษตร มีนายชัยพิชิต สอนสมนึก ทสจ.อุดรธานี นายสายัณห์ หมีแก้ว ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สวล.ภาค 9 นายฐิติณัฎฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี นายภาคภูมิ บุผมาส ประชาสังคมอุดรธานี พร้อมคณะทำงานร่วมประชุม
โดยมีตัวแทนราษฎรจาก บ้านป่อง ม.7 ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี กว่า 30 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานยางแท่ง ปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงาน ทำให้นาข้าวกลุ่มนาแปลงใหญ่ บ.ป่อง 58 ราย เสียหายกว่า 400 ไร่ ทั้งต้นข้าวที่เน่าตาย และต้นข้าวที่ฟื้นจากตาย แต่ข้าวที่ได้มากินไม่ได้ (ตามภาพ) แต่โรงงานปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยมีนายไม บุตรราช อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ.ป่อง เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม ส่วนผู้ได้รับความเดือดร้อนต้องรอฟังผลการประชุมหน้าห้อง
นายสายัณห์ หมีแก้ว ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สวล.ภาค 9 รายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านป่อง จึงแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวลงตรวจสอบ พบว่าระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2566 เป็นช่วงฝนตกหนัก และอ่างฯห้วยหลวงเปิดระบายน้ำ ทำให้น้ำล้นตลิ่งลำห้วยหลวง เข้าท่วมพื้นที่นาข้าวที่ บ.ป่อง และใกล้เคียง แต่เพียงไม่กี่วันต้นข้าวเน่าตาย ตรวจสอบต้นเหตุเป็นน้ำที่ไหลออกจากห้วยยาง โดยต้นน้ำห้วยยางมี โรงงานแป้งมันสำปะหลัง ตามด้วยโรงงานยางแท่ง ที่เคยเกิดปัญหาแล้วในปี 2558
“ เมื่อตรวจสอบโรงงานทั้ง 2 โรง มีการวางท่อระบายน้ำออก และมีร่องรอยการระบายน้ำ ไหลลงสู่ลำห้วยยาง โดยผลการตรวจคุณภาพน้ำ ของน้ำที่ไหลออกจากโรงงาน มีค่าความเค็ม , การนำไฟฟ้า , ทีดีเอส , บีโอดี , ฟอสฟอรัส และเหมือนกับน้ำในนาข้าว ที่ได้รับความเสียหาย และตลอดลำห้วยยาง ยังพบน้ำที่คุณภาพต่ำ เมื่อเวลาผ่านไปคุณภาพน้ำดีขึ้น หลังจากโรงงานหยุดระบายน้ำออก และรื้อท่อน้ำออก ได้แจ้งให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ตั้งโรงงาน และพื้นที่เสียหายแล้ว แต่โรงงานปฏิเสธไม่ได้ระบายน้ำออก ”
นายณัฐพงศ์ วงศ์คำปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้ขอความเห็นจากที่ประชุม ในข้อระเบียบกฎหมายที่ทำได้ ทั้งในส่วนความเสียหายเกิดกับภาครัฐ ที่รัฐจะต้องแจ้งความดำเนินคดี กรณีการปล่อยน้ำเสีย , การฟื้นฟูลำห้วย และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ ส่วนความเสียหายของราษฎร ที่เป็นนาข้าวและบ่อเลี้ยงปลา จะต้องฟ้องเรียกความเสียหาย โดยรัฐจะหาทางช่วยเหลือ ขณะที่ภาคประชาสังคม เสนอให้ไกล่เกลี่ยก่อน เพื่อเยียวยาชาวบ้านที่เดือดร้อน ก่อนติดตามแก้ไขปัญหาระยะยาว
จากนั้นที่ประชุมให้ราษฎรที่เดือดร้อน เข้ามาให้ข้อมูลและฟังคำชี้แจง ซึ่งชาวบ้านระบุว่า เดือดร้อนจากกลิ่นและน้ำเสีย ต่อเนื่องมาทุกปีนานแล้ว จากโรงงานระบายน้ำออกทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ร้องเรียนไปก็แก้ไขไม่ได้ จนในลำห้วยยางไม่มีปลาให้กิน ไม่มีใครอยากลงไปหาปลา แต่ครั้งนี้รุนแรงมากกว่าทุกครั้ง ไม่กี่วันต้นข้าวเน่าตาย บางส่วนกลับมาฟื้นตัวตัวได้ ก็มีปริมาณข้าวต่ำและไม่มีคุณภาพ คนกินไม่ได้คงเอาไปเลี้ยงไก่ ปีนี้ต้องใช้เงินซื้อข้าวกิน และไม่รู้ว่าในปีต่อไปจะมีปัญหาหรือไม่ จึงขอให้จังหวัดช่วย
นายณัฐพงศ์ วงศ์คำปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี แจ้งกับราษฎรที่เดือดร้อนว่า คณะทำงานชุดนี้ตั้ง มาตั้งแต่ปี 2558 ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อน เห็นควรให้ปรับคำสั่งใหม่ให้เหมาะสม คาดว่าจะขับเคลื่อนได้ใน 15-20 วัน โดยจะเชิญโรงงานทั้ง 2 โรง มารับทราบผลการตรวจสอบ มีหลักฐานทางวิชาการที่ต้องรับผิดชอบความเสียหาย หากเข้ายอมรับก็เดินตามระเบียบ และจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้ผู้เดือดร้อน ตามด้วยการดำเนินคดีระบายน้ำเสียออกไม่ได้รับอนุญาต
“ หากโรงงานปฏิเสธไม่ได้ระบายน้ำออก และไม่ชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ก็จะต้องพิสูจน์กันในชั้นศาล ทางราชการก็จะมาช่วยจัดการ อำนวยความสะดวก ให้ผู้รับความเดือดร้อนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งก็จะต้องรอผลคดีระบายน้ำเสีย โดยในวันที่ประชุมกับโรงงาน จะให้ผู้เดือดร้อนส่งตัวแทน เข้ามาร่วมประชุมด้วย ซึ่งอุดรธานีให้ความสำคัญเรื่องนี้ จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด แต่ก็อยู่ในกรอบของระเบียบกฎหมาย ”
.