ผู้ว่าอุดรธานีแถลงยืนยันจัด “มหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี” หลังผ่านศึกหนักหลายด่าน ทั้งขอใช้พื้นที่ชุ่มน้ำท้องถิ่น ผังแม่บทเสร็จสมบูรณ์ ผู้รับจ้างปรับพื้นที่เสร็จ 20 พ.ย.นี้ กรมวิชาการเกษตรเข้าสร้าง-ปรับภูมิทัศน์ต่อ ให้เสร็จทัน เม.ย.69
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี แถลงความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี วันที่ 1 พฤศจิกายน 2569-14 มีนาคม 2570 ภายใต้แนวคิด วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี บนเนื้อที่ 1,030 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่ โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รอง ผวจ.อุดรธานี และคณะกรรมการ อำนวยการฯอุดรธานี และผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร ร่วมรับฟังและชี้แจงข้อซักถามจากสื่อมวลชน
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่อุดรธานีได้รับสิทธิ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี จากสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) และลงนามในสัญญาเป็นเจ้าภาพเมื่อ 18 กันยายน 2565 ได้ขับเคลื่อนงานด้วยคณะกรรมการ คณะทำงาน คณะทำงานย่อย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคล่องตัวในมิติต่างๆ ทำให้มีความคืบหน้าตามไทมไลน์ ในเรื่องหลักสำคัญตั้งแต่ ครม.เห็นชอบให้ยกเว้นระเบียบ ใช้พื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่น , การอนุญาตตาม พรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และประมวลกฎหมายที่ดิน , ถนนทางเข้าเชื่อมทางหลวง และทางพาดรถไฟ
“ อุดรธานีได้จ้างออกแบบผังแม่บทและรายละเอียด กับกิจการร่วมค้า หนึ่งร้อยสิบพีแอล วงเงิน 55.756 ล้านบาท ซึ่งผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานครบถ้วนตามสัญญา เมื่อ 30 เมษายน 2567 และวันนี้ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง หจก.อุบลรุ่งเรืองกลการ วงเงิน 100.987 ล้านบาท (ราคากลาง 109.706 ล้านบาท) ปรับสภาพพื้นที่ระยะเวลา 240 วัน โดยมีการปรับ แผนเร่งรัด บริหารสัญญาให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 182 วัน หรือภายใน 20 พฤศจิกายน 2567 จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้งานก่อสร้าง-การปลูกต้นไม้ หากมีความจำเป็น ก็สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ก่อสร้าง ในส่วนจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อนกำหนด โดยมีแผนงานเพื่อรับมือกับฝนที่จะตกลงมาด้วย ”
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า อุดรธานีได้เตรียมแผนรองรับ การอำนวยความสะดวก บริการขนส่งทางบก ทางราง และทางอากาศ โดยวางแผนระบบการขนส่ง กำหนดจุดเชื่อมจากพื้นที่ระบบขนส่งสาธารณะ ไปยังพื้นที่จัดงาน สาย A สถานีรถไฟอุดรธานี – บขส.แห่งที่ 1- งานพืชสวนโลก , สาย B ท่าอากาศยานอุดรธานี – บขส. แห่งที่ 2 – งานพืชสวนโลก , สาย C จุดจอดแล้วจรทม.หนองสำโรง – งานพืชสวนโลก , สาย D จุดจอดแล้วจรศาลแรงงาน ภาค 4 – งานพืชสวนโลก พร้อมกับสนามบินเชื่อมต่อ ท่าอากาศยานอุดรธานี กับดอนเมือง , สุวรรณภูมิ , เชียงใหม่ และหาดใหญ่ รวมถึงเส้นทางการบินระหว่างประเทศ
ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ยังชี้แจงถึงแผนงบประมาณที่ จ.อุดรธานี , กรมวิชาการเกษตร และสสปน. ได้รับการจัดสรรในปี 67 , 68 และ 69 โดยงบประมาณส่วนใหญ่ กรมวิชาการเกษตรจะได้รับจัดสรร เพราะถือเป็นหน่วยดำเนินการ เนื่องจากอุดรธานีไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้เกิน 1 ปี ทั้งนี้การเตรียมสถานที่จัดงาน ต้องส่งมอบพื้นที่จัดงานให้ AIPH ในเดือนเมษายน 2569
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนว่า ตามข้อห่วงใยของ รมว.เกษตรฯ และข้อสั่งการของปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในเรื่องของงานที่ล่าช้า และการเพิ่มความสัมพันธ์ในการทำงานมากขึ้น ปกติข้าราชการในระดับปฏิบัติของ จ.อุดรธานี และกรมวิชาการเกษตร ได้มีการประสานทำงานกันอยู่แล้ว เมื่อมีข้อสั่งการมาก็เพิ่มความเข้มขึ้น นอกจากนี้ จนท.จากกรมวิชาการเกษตร ได้เดินทางมา จ.อุดรธานี เพื่อปรับแผนงานและเวลาตาม “ผังแม่บท” ร่วมทำงานกับอุดรธานี และผู้ศึกษาออกแบบผังแม่บทมา 2 วันแล้ว ซึ่งเป็นไปด้วยดี พร้อมนำเข้าพิจารณา 24 พฤษภาคมนี้
สำหรับการบริหารจัดการระหว่างงาน กรมวิชาการเกษตรซึ่งมีประสบการณ์ ในการจัดงานพืชสวนโลกที่ จ.เชียงใหม่ ยืนยันยึดเอารูปแบบการใช้ “ออแกไนเซอร์” มาปรับปรุงแก้ปัญหาที่เคยเกินขึ้น ส่วนงบประมาณที่นอกกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท ที่อุดรธานีไม่มีวงเงินนั้น ได้แบ่งออกเป็นแผนงานนอกพื้นที่จัดงาน อาทิ ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะของตำรวจ เชื่อมตัวเมืองกับสถานที่จัดงาน , ระบบการตรวจและส่งต่อผู้ป่วยของ สสจ.อุดรธานี และบริการรถสาธารณะ จะขอตรงจากต้นสังกัด ส่วนแผนงานในพื้นที่จัดงาน อาทิ การบริการ , ความสะดวก-ปลอดภัย , รักษาพยาบาล และอื่นๆ จะใช้งบได้จากการหารายได้ของงาน ….