แผนสร้างรถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง ทำการศึกษาทางต่างระดับ 4 แยกเข้าเมืองอุดรมีทางเลือกน้อย
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมโรงแรมสยามแกรนด์ ถนนวงแหวน ทต.หนองบัว กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศ โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 26 (แยกบ้านจั่น) โดยแบ่งจัดเวลาเป็นภาคเช้า และภาคบ่าย พร้อมร่วมเวทีผ่านโปรแกรมซูม จากมาตรการป้องกันการแพร่โควิด-19 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งละไม่เกิน 50 คน ตามสัญญา 20 ก.พ.64-15 พ.ค.65 รวมเวลา 450 วัน
นักวิชาการที่ปรึกษาโครงการ นำเสนอแผนการศึกษา เพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจ มีจำนวนรถยนต์จาก จ.ขอนแก่น มาที่อุดรธานี มุ่งหน้าเข้าตัวเมือง และเลี้ยวผ่านไปหนองคาย มีจำนวนมากขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้น ในสถานการณ์ปกติ มีความจำเป็นต้องทำการศึกษา จากทางแยกที่ใช้ไฟสัญญาณจราจร มาเป็นทางแยกที่ใช้ทางยกระดับ ซึ่งต้องรับฟังความเห็นประชาชน โดยข้อมูลครั้งนี้จะนำไปใช้ สร้างรูปแบบทางต่างระดับ 3 รูปแบบ เพื่อนำมาเสนอการประชุมอีกครั้ง เพื่อเลือกรูปแบบที่พึ่งพอใจ และนำกลับมาศึกษาเพิ่มเติม
ที่ปรึกษาให้ข้อมูลว่า โครงการนี้ต้องทำ อีไอเอ. เหตุมีโบราณสถานตามสภาพ ในรัศมีพื้นที่โครงการ 1 กม. แต่เชื่อว่าการศึกษาจะไม่มีอุปสรรค แต่อาจจะใช้เวลาพิจารณาบ้าง นอกจากนี้จากวงเงินงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท จะต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.จึงจะบรรจุเข้าแผนงาน ขณะที่โครงการนี้มีข้อจำกัดอีก คือ 1.คลองระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมด้านทิศใต้ ที่มีนัดพูดคุยกับชลประทาน และทางหลวง และ 2.ทางพาดรถไฟที่ห่างจากทางแยกไป 480 ม.
ทางพาดรถไฟถนนวงแหวน 216 โครงการรถไฟทางคู่ออกแบบไปแล้ว รอการพิจารณาก่อสร้าง กำหนดให้รถไฟยังวิ่งในแนวราบเดิม รถจะผ่านบริเวณนี้ต้องมีถนนข้าม ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง อยู่ระหว่างการออกแบบ กำหนดให้ทางรถไฟข้ามทางพาด บวกกับเขตนิรภัยการบิน เพราะเป็นแนวขึ้นลงของเครื่องบิน โอกาสจะทำทางผ่านได้คือ การสร้างทางข้ามรถไฟทางคู่ และลอดใต้รถไฟความเร็วสูง จึงมีข้อจำกัดในการกำหนดทางต่างระดับ แยกบายพาสอุดรธานี-ขอนแก่น โดยทั้งหมดผู้ศึกษายังไม่ได้กำหนด ว่าจะเอารูปแบบทางต่างระดับรูปแบบไหน
ผู้เข้าร่วมประชุม ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเสนอแนะ ในประเด็นที่เหมือนและแตกต่างพอสรุปได้ คือ 1.คลองระบายน้ำริมถนนวงแหวน (216) เป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมเมือง น่าจะต่องนำข้อมูลมาพิจารณา , 2. ทน.อุดรธานี ต้องระบายน้ำออกจากเมือง ด้วยเครื่องสูบน้ำใต้ดินบริเวณชุมชนดงวัด จากบทเรียนการสร้างทางต่างระดับแยกหมอไพโรจน์ มีปัญหาเรื่องแบบระดับท่อ เมื่อถึงเวลาก่อสร้างแก้ไขไม่ได้ ทำให้เมื่อสร้างเสร็จท่อระบายน้ำ อยู่สูงกว่าพื้นที่ร่องน้ำในเมือง , 3.ทต.บ้านจั่น มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม รวมทั้งถนนมิตรภาพก่อนเข้าเมือง จากปริมาณน้ำในลำห้วยขุ่น ไหลมาจาก ต.โนนสูง และไปลงคลองระบายน้ำจัดก่อสร้าง ขอให้ออกแบบท่อให้มีขนาดเพียงพอ
4. ขอให้พิจารณาออกแบบขยายถนนมิตรภาพ ที่มีสภาพเป็นคอขวดบริเวณสะพานลอยคนข้าม หน้า รร.ประจักษ์ศิลปาคารด้วย , 5.อนาคตจะมีรถบรรทุกจำนวนมาก จากขอนแก่นมาเลี้ยวขวาจุดก่อสร้าง เพื่อมุ่งหน้าไปหนองคาย และจะมีรถบรรทุกจำนวนมากจากหนองคาย มาเลี้ยวซ้ายจุดก่อสร้างเพื่อไป จ.ขอนแก่น รถน่าจะมีจำนวนมากขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว ขอให้พิจารณาออกแบบเผื่ออนาคตด้วย , 6.ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ฟุตบาท หรือส่วนอื่น ขอไม่เอาต้นไม้จากป่ามาปลูก
7. น่าจะสร้างเป็นอุโมงค์ในถนนมิตรภาพ ลอดใต้ถนนทางหลวง 216 เพราะเป็นแผนงานเดิม และน่าจะมีฮวงจุ้ยที่ดี , 8.น่าจะสร้างอุโมงค์ในทางหลวง 216 ลอดใต้ถนนมิตรภาพ ลอดไปจนถึงทางพาดรถไฟ เพื่อให้ใช้ผิวจราจรถนนมิตรภาพสูงสุด , 9.พิจารณาเพิ่มจุดยูเทิน เพราะที่ผ่านมามีจำนวนน้อยมาก ซึ่งทีมผู้ศึกษารับจะนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ในการพิจารณา….