แผนพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ “โมเดลกัญชา เมืองดวงตามังกร อุดรธานี” เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 27 สิงหาคม 2562 ในเวทีเสวนาและลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่าง รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.อุดรธานี ผ่านมากว่าห้าเดือนมีเรื่องน่ายิดีเกิดขึ้น
เมื่อวิสาหกิจชุมชนเกษตรอัจฉริยะ ดวงตามังกรอุดรธานี นำโดยนายพีรพงศ์ รอบรู้ ประธานวิสาหกิจชุมชน และนายเมืองแมน มะนัสศิลา ผอ.รพ.สต.บ้านสระแก้ว อ.บ้านดุง พร้อมคณะบวงสรวง เจ้าปู่ศรีสุทโธ เจ้าย่าศรีปทุมมา เพื่อเป็นสิริมงคล ในโอกาสที่ สนง.คณะกรรมการอาหารและยา รับรองสถานที่ปลูกกัญชา ที่ รพ.ห้วยเกิ้ง อ.กุมภวาปี และ รพ.สต.บ้านสระแก้ว อ.บ้านดุง เมื่อวันที่ 14 -15 มกราคม 2563
นายพีรพงศ์ รอบรู้ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอัจฉริยะ ดวงตามังกรอุดรธานี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนฯ ได้ร่วมกับ รพ.ห้วยเกิ้ง และ รพ.สต.บ้านสระแก้ว ขออนุญาตทำแปลงสาธิตปลูกกัญชา ในพื้นที่ รพ.ห้วยเกิ้ง และ รพ.สต.บ้านสระแก้ว แห่งละ 100 ต้น ตามรูปแบบที่ สนง.คณะกรรมการอาหารและยากำหนด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จริงๆ น่ายินดีมากที่สถานที่เราผ่านการพิจารณา แต่ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อ
“โมเดลกัญชา เมืองดวงตามังกร อุดรธานี” ได้กำหนดนำร่องให้วิสาหกิจชุมชนฯ ร่วมกับ รพ. หรือ รพ.สต. ปลูกกัญชาพันธุ์ “หางกระรอก” ใช้เมล็ดพันธ์จากแปลงปลูกได้รับอนุญาตถูกต้องที่ จ.สกลนคร มีแผนเสนอดำเนินการ 4 แปลง ที่จะต้องก่อสร้างโรงเรือนแบบปิด ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อปลูกต้นกัญชาและเก็บผลผลิต นำมาผลิตกัญชาทางการแพทย์ที่ รพ.ห้วยเกิ้ง นำยากัญชาที่ได้ใช้ในพื้นที่ จ.อุดรธานี
นอกจาก รพ.ห้วยเกิ้ง อ.กุมภวาปี และ รพ.สต.บ้านสระแก้ว อ.บ้านดุง ที่จะปลูกกัญชาแห่งละ 100 ต้นต่อรุ่น ยังมี รพ.สต.เชียงพิณ อ.เมือง 180 ต้นต่อรุน และ รพ.สต.หนองแซง อ.หนองวัวซอ 120 ต้นต่อรุ่น รวม จ.อุดรธานี จะปลูกกัญชารวมรุ่นละ 500 ต้น และจะต้องส่งมาสกัดยากัญชา ตำหรับ รพ.ห้วยเกิ้ง ทั้งหมด
เมื่อ สนง.คณะกรรมการอาหารและยา ผ่านความเห็นชอบสถานที่ปลูก 4 แห่งของ จ.อุดรธานี มีขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตอีก 3 ขั้น คือ ขั้นต่อไป เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการ จ.อุดรธานี มีผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธาน จากนั้นจะเป็นการขั้นตอนของคณะอนุกรรมการของ สนง.อาหารและยา และขั้นสุดท้าย จะต้องเห็นชอบจากคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ
จึงจะเริ่มปลูกต้นกัญชารุ่นแรกได้ หากไม่มีอุปสรรคที่เหนือความคาดหมาย จะสามารถปลูกได้ในเดือนกุมภาพันธุ์ 2563………