3 หมู่บ้าน ต.น้ำพ่น อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ค้านสร้างอ่างฯห้วยยางล่าง ตามแผนพัฒนาห้วยหลวงตอนบน-กลาง ตัดพ้อหนักเคยถูกไล่มาแล้ว 48 ปีก่อน ในการสร้างอ่างฯห้วยหลวง ยังจะต้องมาถูกไล่ครั้งที่สอง เตรียมบุกทำเนียบยืนหนังสือ “นายกตู่”
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรหนองแซงสร้อย ม.5 ต.น้ำพ่น อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี นายประยูร นารี อายุ 66 ปี อดีตกำนัน ต.น้ำพ่น พร้อมแกนนำชาวบ้าน บ.หนองแซงสร้อย ม.5,7,9 มาร่วมประชุมขับเคลื่อนต่อต้าน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางล่าง ต.น้ำพ่น เพื่อเตรียมเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการ ต่อพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีป้ายต่อต้านโครงการหลายขนาด ติดไว้ทั้งในและนอกอาคารศูนย์ฯ
นายบรรจง วิเศษศักดิ์ อายุ 59 ปี ผญบ.หนองแซงสร้อย ม.5 ชี้แจงว่า ชาวบ้านหนองแซงสร้อยกว่าครึ่ง คือผู้ที่เคยอาศัยอยู่บ้านน้ำพ่น ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ หรือบริเวณกลางอ่างฯห้วยหลวงในปัจจุบัน เมื่อ 48 ปีก่อน ตนเองเรียนอยู่ประถม 6 เมื่อสร้างอ่างฯห้วยหลวง ชาวบ้านต้องทิ้งบ้านเลือกสวนไร่นา มาอยู่ที่ บ.หนองแซงสร้อย ร่วมทั้งพ่อแม่ตนก็ทิ้งนาให้จมน้ำ 60 ไร่ มาหาซื้อนาข้าวใหม่ได้ 23 ไร่ ใช้ทำกินเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่นั้น มาตอนนี้จะมาไล่เราไปอีก จะให้เราไปอยู่ทำกินที่ไหน เราคงจะไม่ยอมย้ายไปที่ไหนอีกแล้ว
“ เมื่อ ก.ย.64 ผมในฐานะ ผญบ.ได้รับแจ้งไปประชาคม โครงการอ่างฯห้วยยางล่าง ที่ว่าการ อ.หนองวัวซอ แต่มีปัญหาโควิด-19 ได้ใช้โทรศัพท์มาสอบถาม ต่อมา 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษามาประชุมกลุ่มที่นี่ ลักษณะสำรวจข้อมูลทั่วไป แต่เมื่อเขากลับไปจึงรู้ว่า จุดที่เขาจะสร้างอ่างฯอยู่ติดหมู่บ้าน พื้นที่ 5,312 ไร่ 80 % เป็นนาข้าว ที่ชาวบ้านเรียกว่าห้วยทราย ไม่ใช่ห้วยยางล่างตามที่ราชการเรียก ชาวบ้านจึงเรียกประชุมด่วน และมีมติไม่เห็นด้วยจุดก่อสร้างโครงการ และจะต่อต้านจนถึงที่สุด
นายพาส ทองทัน อายุ 61 ปี ส.อบต.น้ำพ่น กล่าวว่า เคยมีบ้านและนาข้าวที่ บ.น้ำพ่น ที่ตอนนี้อยู่ใต้น้ำอ่างฯห้วยหลวง เป็นกลางอ่างฯจุดเกือบลึกที่สุด เรียกว่าดอนป่าหว้า และห้วยรุกเอียน ก่อนจะมีการก่อสร้าง มีอิทธิพลเข้ามาบังคับ ให้ขายที่นาให้นายทุน ถ้าไม่ขายทางราชการก็จะยึด เหมือนกับการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ พ่อแม่ต้องยอมขายไร่ละ 500 บาท แล้วก็อพยพมาอยู่ที่ บ.หนองแซงสร้อย ขอแบ่งซื้อที่นาจากชาวบ้าน และทำกินมาต่อเนื่อง ยังจะตามมาเอาที่นาเราอีก ยืนยันว่าจะไม่ยอมอีกแล้ว
ผญบ. และ ส.อบต. ได้ร่วมกันชี้แนวเขตโครงการในแผนที่ ระบุว่า พื้นที่โครงการอยู่ติดกับหมู่บ้าน หรือ “นาตีนบ้าน” โดยมีถนนหมู่บ้านเป็นแนวกั้น เมื่อมีการสร้างเขื่อนดินกั้นลำห้วย ตามแนวเส้นสีฟ้าเกือบขนานกับถนน น้ำจะท่วมพื้นที่นาข้าวชาวบ้านทั้งหมด เท่าที่ตรวจสอบจากแผนที่ พื้นที่น้ำท่วมจะระบายเป็นสีแดง 115 แปลง หรืออาจจะมีมากกว่านั้น โดยตั้งคำถามว่าทำไมต้องเลือกบริเวณนี้ ยังมีพื้นที่อื่นอยู่ไม่ไกล มีความเหมาะสมมากกว่า น่าจะไปเลือกบริเวณนั้น
นายประยูร นารี อายุ 66 ปี อดีตกำนัน ต.น้ำพ่น เปิดเผยว่า เป็นชาวบ้านน้ำพ่น เคยเจ็บช้ำน้ำใจมามากแล้ว ครอบครัวต้องอพยพหนีน้ำท่วมมาที่นี่ โครงการงอ่างฯห้วยยางล่างมีเลศนัยหลายอย่าง อย่างแรกคือ ชาวบ้านไม่เคยรับรู้มาก่อน เพิ่งจะมารู้เรื่องเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ไม่เคยมีคนมาถาม เมื่อบริษัทมาสำรวจ ชาวบ้านก็ไม่รู้จักชื่อสักคน การสำรวจเหมือนจะไม่ให้ชาวบ้านรับรู้ ผิดจากนโยบายคณะรัฐมนตรี ให้สำรวจความคิดเห็น บริษัทฯมาสำรวจเพื่อเอาใจนาย ปิดจ๊อบก็ได้เงินค่าจ้างแล้วก็ไป ใครจะเป็นยังไงก็ช่างมัน
“ สรุปชาวบ้านไม่ต้องการให้สร้าง เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นมรดกสิ่งสุดท้าย ที่ปู่ย่าตายายจากบ้านน้ำพ่น ได้มาจับจองที่ไร่ที่นาให้ลูกหลานทำกิน จะมีคนให้เงินซื้อที่นาเราเท่าไหร่ก็ช่าง ยืนยันว่าไม่ให้สร้าง หนีจากห้วยมาอยู่บนภูก็ยังจะมาเกิดเหตุแบบนี้อีก ชาวบ้านได้ประชุมร่วมกันว่า จะทำหนังสือขึ้น 3 ฉบับพร้อมรายชื่อสำเนาบัตรประชาชนเพื่อคัดค้าน ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ทั้งหมดจะยื่นด้วยตัวเอง และจะยื่นภายในเดือนนี้
นายประยูร นารี อายุ 66 ปี อดีตกำนัน ต.น้ำพ่น กล่าวต่อว่า เรามีพื้นที่เหมาะสมแนะนำให้สร้างโครงการ คือ พื้นที่ระหว่างภูพานและภูเพ เป็นพื้นที่รอยต่ออุดรธานีและหนองบัวลำภู ซึ่งเคยถูกสำรวจเมื่อนานมาแล้ว หรือที่เรียกว่าห้วยบักพริก เนื้อที่มากกว่าที่นี่ถึง 2 หมื่นกว่าไร่ จะปริมาณน้ำมหาศาลมากกว่า เป็นพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ไม่มีเจ้าของเพราะเป็นร่องภู อีกที่คือห้วยหลี่ผี ที่อยู่ใกล้กับลาดช่อฟ้า จุดนี้เคยมีอ่างฯแต่พังไปแล้วราว 1 หมื่นไร่ การเสนอ 2 จุดนี้ให้โครงการ จะได้ไม่มาข่มเหงน้ำใจชาวบ้านแบบนี้ และไม่ต้องเสียค่าเวนคืน….
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการอ่างฯห้วยยางล่าง เป็น 1 ใน 15 แผนงาน ในโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จ.อุดรธานี ตามมติ ครม.สัญจร จ.หนองคาย เมื่อปลายปี 2561 ตามข้อเสนอของ กรอ.อุดรธานี สายต่อโครงการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย- จ.อุดรธานี ที่ทำการศึกษาออกแบบไปแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้างแผนงานต่อเนื่อง 6 ปี….