ผู้สื่อข่าวรายงานมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่วังนาคินทร์คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 10 อุดรธานี จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า , สวนรุกชาติบ้านดุง , ด่านตรวจสัตว์ป่าหนองคาย ศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย ได้ตามจับสัตว์ต่างถิ่น(ควบคุม) “อีกัวน่าเขียว” ช่วงวันที่ 16-17 พ.ย.ที่ผ่านมา จับอีกกัวน่าได้รวม 6 ตัว
นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กำนัน ต.บ่านม่วง อ.บ้านดุง คณะกรรมการบริหารคำชะโนด เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่พักการตามจับอีกัวน่า ตั้งแต่วันที่ 18-20 พ.ย.นี้ เนื่องจากเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ มีประชาชนเดินทางมามาก การทำงานอาจจะไม่สะดวก รวมทั้งวันจันทร์เป็นวันพระ โดยจะเข้ามาจับอีกครั้งพรุ่งนี้ โดยที่ผ่านมาชาวบ้านไม่คัดค้าน จับตัวอีกัวน่าออกจากคำชะโนด เพราะทั่วประเทศก็ตามจับเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะที่บ้านของเรา
“ อีกัวน่าเขียวไม่ได้อยู่แค่ในคำชะโนด แต่มีชาวบ้านพบเห็นห่างออกไป 1-2 กม. เชื่อว่ามันผสมพันธุ์จนมีลูกแล้ว จากการที่พบเป็นอีกัวน่าตัวเล็ก หรือพบจุดการว่างไข่ของมัน ตามพื้นที่รอบ ๆคำชะโนด โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า หากชาวบ้านพบเห็นอีกัวน่า ให้จับหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ไปจับ เพื่อนำไปควบคุมไว้ที่ศูนย์ฯ ขณะยังมีสัตว์อีกหลายชนิด ที่ชาวบ้านนำมากปล่อยตามความเชื่อ อาทิ งูเหลือมที่ถูกจับจากที่อื่น ก็มักจะเอามาปล่อยที่นี่ ”
นายสมบัติ สุภศร ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า อีกัวน่าเขียวที่คำชะโนด มีการแพร่พันธุ์แน่นอนแล้ว จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบเห็นอีกัวน่าเขียวตัวเล็ก ทีมงานได้ออกสำรวจจนพบหลักฐาน ภาพที่แม่ค้าขายเครื่องบวงสรวง ถ่ายไว้ได้ตอนฝูงลูกอีกัวน่าเขียวประมาณ 6 ตัว ขึ้นจากน้ำมาพักอยู่ริมตลิ่ง เมื่อประมาณ 1 เดือนก่อน และในการจับอีกอีกัวน่า 6 ตัว เอาไปไว้ที่ศูนย์ฯ อ.สังคม จ.หนองคาย ก็พบว่ามันผสมพันธุ์กันแล้ว
“ สภาพของป่าคำชะโนดรกทึบ รอบพื้นที่มีการขุดคลองล้อมรอบ อีกัวน่าชอบอยู่อาศัยบริเวณกิ่งไม้ ปลายยอดของต้นไม้ ทำให้การดักจับเป็นไปด้วยความลำบาก ทั่งการเดิน-นั่งเรือเข้าไปจับ ด้วยอุปกรณ์สวิงยาว และบ่วงคล้อง ซึ่งวันพรุ่งนี้(21 พ.ย.66) ยังจะใช้อุปกรณ์นี้ไปก่อน เพราะคิดว่ายังเหมาะสมที่สุด พร้อมกันนี้ได้ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลเกี่ยวกับอีกัวน่า ปัญหา แนวทางแก้ไข และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ ”