วันที่สองหีบอ้อยไฟไหม้ตกค้าง พบต่ำกว่ามาตรฐาน 185 คัน ชาวไร่ต้องขนไปเททิ้ง “อีโต้ ธีระชัย” รุดเจรจา รง.สำรองจ่ายอ้อยเน่าก่อนตันละ 1,210 บาท สมาคมฯจะไปขอจากกองทุนมาชดใช้ ก่อนขอบคุณ รมว.อุตสาหกรรม และอัดใส่ ขรก.สั่งปิดโรงไฟฟ้าทำอ้อยเน่า วิสัยทัศน์เทาอวัยวะมด ขณะโรงงานร่อนจดหมายแจ้ง เครื่องจักรมาตรฐาน หม้อต้มจากญี่ปุ่น ตรวจวัดคุณภาพอากาศเรียวไทม์ รายงานสดไปกระทรวง
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ยังคงเดินหน้าหีบอ้อยไฟไหม้ตกค้าง ที่เกิดจากคำสั่ง สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ปิดโรงไฟฟ้าชีวะมวล “ไทยอุดรธานี เพาเวอร์” จึงไม่สามารถส่งพลังงานให้โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานีได้ โรงงานตาลฯต้องปิดไปโดยปริยาย โดยเมื่อวานเป็นวันแรกอ้อยไฟไหม้ตกค้าง ซึ่งผ่านการตรวจคุณภาพและส่งเข้าหีบไป 245 คัน แต่ในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่สอง พบว่ารถบรรทุกอ้อยไม่ผ่านการตรวจคุณภาพ ของ รง.น้ำตาลฯ จึงนำรถบรรทุกอ้อยไฟไหม้คุณภาพต่ำ ออกมาจอดอยู่ที่ลาน 2 และแจ้งให้ สนง.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เดินทางมาตรวจยืนยันอีกรอบตามข้อตกลง
ต่อมานายธีระชัย แสนแก้ว ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และนายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือไทยอุดรบ้านผือ เดินทางมาดูข้อเท็จจริงหลังรับแจ้ง เพื่อร่วมพูดคุยและร่วมเก็บตัวอย่าง อ้อยไฟไหม้ผ่านการตรวจรอบแรก ไปตรวจคุณภาพรอบสอง ประกอบด้วย นายเรวัตร กองเถิน หน.เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 5 ตัวแทนของ สนง.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สนอ.) , นายนิเวศ วิเศษตุ่น หน.หน่วยประจำ รง.น้ำตาลไทยอุดรธานี , นายวรพจน์ บุรุษภักดี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือไทยอุดรบ้านผือ และทีมตรวจคุณภาพอ้อยของ สนอ. โดยไม่มีตัวแทนของ สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ที่ออกคำสั่งปิดโรงไฟฟ้าชีวะมวล เดินทางมาร่วมตรวจสอบ
ทีมตรวจคุณภาพอ้อยไฟไหม้ครั้งที่สอง ได้ไปสุ่มอ้อยไฟไหม้จากรถบรรทุกคันละ 3-4 ลำ ที่จอดอยู่ลานอ้อยสอง จากนั้นนำเข้ามาโรงงานน้ำตาล ก่อนทยอยเอาอ้อยแต่ละคัน เข้าไปในห้องวิเคราะห์คุณภาพอ้อย ผ่านกระบวนการหีบเอาน้ำจากอ้อย แล้วน้ำอ้อยที่ได้ไปตรวจวิเคราะห์ ในกระบวนการวิเคราะห์ใช้เวลา 15 นาทีต่อคัน โดยในช่วงที่นำตัวอย่างอ้อยเข้าตรวจ 12 คัน พบว่ามีอ้อยคุณภาพต่ำหรือ “อ้อยเน่า” 7 คัน ซึ่งเท่ากับว่าอ้อย 5 คันที่ต่ำกว่าคุณภาพ ไม่สามารถส่งเข้าโรงงาน และจะต้องเอาไปทิ้งอย่างเดียว จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเอาผลการวิเคราะห์ มาประกาศให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรู้ บรรยากาศมีทั้งดีใจและเสียใจ ขณะที่การสุ่มตรวจวิเคราะห์ยังคงทำต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เช้า-บ่ายตรวจไปแล้ว 100 คันเศษ
ด้านโรงน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานี เพาเวอร์ ได้ออกจดหมายข่าวแจกจ่ายให้ชาวไร่อ้อย ยืนยันมาตรฐาน เทคโนโลยี และประสิทธิภาพ พร้อมร่วมมือกับอุตสาหกรรม มุ่งเดินหน้าด้วยการจัดการอ้อยยั่งยืน ระบุว่า ทั้ง 2 โรงงานได้ประชุม คกก.และเจ้าหน้าที่ เพื่อติดตามผลการเปิดเดินเครื่องจักร ของโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าไทยอุดรธานี เพาเวอร์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย หม้อไอน้ำที่ใช้เป็นหม้อไอน้ำคุณภาพสูงจากญี่ปุ่น ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกปี อีกทั้งมีการส่งรายงานตรวจติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทุก 6 เดือน อีกทั้งได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศแบบ Real time CEMs (Continuous Emission Monitoring System) ซึ่งส่งข้อมูลออนไลน์ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม
โรงงานทั้ง 2 โรง ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน และมุ่งมั่นดำเนินงานตามแนวทาง ESG ซึ่งรวมไปถึงนโยบาย แนวปฏิบัติ และมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับเรื่องการไม่รับซื้ออ้อยไฟไหม้นั้น โรงงานยินดีที่จะปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติการตัด การเผา-ไม่เผา ขึ้นอยู่กับบริบทของการทำไร่อ้อยตามสภาพพื้นที่ ความสามารถ/ความพร้อมของชาวไร่อ้อยเป็นสำคัญ โรงงานเป็นปลายทางของห่วงโซ่ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและความร่วมมือกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย สนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดอย่างบูรณาการ และเพื่อขานรับนโยบายของภาครัฐพร้อมกันนี้ ก็ได้เร่งรัดแผนงาน “การจัดการอ้อยยั่งยืน” อันเป็นนโยบายด้านความยั่งยืนประจำปี 2568 ของบริษัทให้มีการปฏิบัติการเร็วขึ้น
นายธีระชัย แสนแก้ว เปิดเผยว่า หลังจากติดตามแก้ไขปัญหานี้มา วันนี้ปัญหาชาวไร่อ้อยยังไม่หมด ยังคงมีอ้อยไฟไหม้ค้างในลาน เรื่องนี้หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล คือ สนง.อ้อยและน้ำตาลทราย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย คณะบริหารทุกอย่างต้องออกมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ตอนนี้รถอ้อยไฟไหม้ติดค้างลานอยู่นานกว่า 10 วัน มีรถอ้อยที่โรงงานไม่สามารถรับได้ 185 คัน เพราะอ้อยเน่า อ้อยส้ม อ้อยแห้ง เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือกระทรวงอุตสาหกรรม กฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายมีเพื่อใคร ปัจจุบันนี้ยังไม่เห็นนำมาใช้แม้แต่ข้อบังคับเดียว
“ เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของชาวไร่อ้อย มันเป็นการโยกโย้ กานอำนวยความสะดวกของภาคราชการ ที่ถืออำนาจรัฐ การแก้ไขปัญหามันต้องมีสมอง การแก้ไขปัญหา ถ้าหากโรงงานรับในบางส่วนก็ให้รับไป ถ้าหากรับไม่ได้ ก็ให้ฝ่ายควบคุมทั้งหมด ตรวจรายชื่อชาวไร่ที่เดือดร้อน ถ้าไม่รับก็ให้ชั่งน้ำหนักไว้ แล้วจะเอาไปเททิ้งที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเอาเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ออกมาเยียวยาช่วยเหลือ แต่กระบวนการอาจจะนานหน่อย ตนได้คุยกับโรงงานว่า อาจจะต้องยืมเงินมาก่อน เอามาให้พี่น้องก่อน เพราะต้องเดือดร้อนขาดรายได้มานาน ”
นายธีระชัย แสนแก้ว เปิดเผยว่า เรื่องนี้ไม่ใช้ความผิดของรัฐมนตรี ต้องขอความคุณที่พยายามแก้ไข ยังคิดว่าจะขึ้นป้ายขอบคุณด้วยซ้ำ แต่ที่เกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากข้าราชการ ละเลยหน้าที่ของตัวเอง ตนไม่ยอมแน่นอนกับราชการพวกนี้ ฝ่ายการเมืองไม่มีปัญหาอะไร ที่นักวิชาการออกมาพูดว่าเป็นเรื่องระหว่างเพื่อไทยกับรวมไทยสร้างชาติ มันไม่ใช่แน่นอน ตนเองและ ส.ส.เทียบจุฑา ได้ไปคุยกับท่านรัฐมนตรี ก็รู้ว่าท่านมีวิสัยทัศน์ที่ดี ดีมากกว่าข้าราชการ ข้าราชการบางคนอยู่กระทรวงมานาน แต่มีวิสัยทัศน์แคบ แคบเท่าอวัยวะมด
ด้านนายวรพจน์ บุรุษภักดี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้อ้อยไฟไหม้ได้เข้าหีบโรงงาน ตั้งแต่เวลา 07.00 ของวานนี้จนถึงเวลา 09.00 น. ของวันนี้ จำนวนรถไฟไหม้ 254 คัน ได้ผ่านมาตรฐาน โดยเช้าวันนี้คณะควบคุมการผลิต3 ฝ่าย ได้ทำการสุ่มสำรวจรถอ้อยไฟไหม้ 12 ตัวอย่าง ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เพียง 5 คัน โดยจะทำการสุ่มตรวจไปเรื่อยๆ แต่ละคันจะใช้เวลา 15 นาที ซึ่งเหลือรถไหม้อ้อย อีก 200 กว่าคัน ที่ยังไม่ตรวจ คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า โรงน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานี ได้ประชุมพิจารณาให้การช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ตามการร้องขอของสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือไทอุดรบ้านผือ โดยจะสำรองจ่ายเงินค่าอ้อยไฟไหม้ แต่คุณภาพต่ำเข้าโรงงานไม่ได้ ในอัตราตันละ 1,160 บาท และค่าบรรทุกอีก 50 บาท รวมเป็น 1,210 บาท คิดคำนวณจากน้ำหนักอ้อยที่บรรทุกมา หักกับน้ำหนักรถเปล่าที่เคยมาส่งครั้งก่อน และสามารถมารับเงินตามงวดจ่ายเงิน คือวันที่ 7 กุมภาพันธุ์ที่จะถึงนี้…