เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และนายธีระชัย แสนแก้ว ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมีนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับและชี้แจงโครงการฯ ซึ่งมีนายจำรัส กังน้อย รอง ผวจ.อุดรธานี นำคณะหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกเอกชน เข้าร่วมการชี้แจงและเยี่ยมชมโครงการฯ
จุดแรกคณะตรวจเยี่ยมได้ลงพื้นที่บริเวณปากทางเข้านิคมฯ เพื่อดูเส้นทางในการปรับปรุงทางเข้าให้สะดวกและมีความปลอดภัย จุดที่สองคณะเข้ารับฟังการชี้แจงจากคณะผู้บริหารในห้องประชุมของ สนง.ขายโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปดูสถานีไฟฟ้าภายในนิคม และเดินทางต่อไปยังจุดเตรียมการก่อสร้างพื้นที่เชื่อมต่อทางรถไฟ ห่างจากสถานีหนองตะไก้ 1.7 กม. ตรงข้ามกับหลังโรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร และเดินทางต่อไปยังอาคารคลังสินค้าหรือแวร์เฮ้าส์ และจุดท้ายคือบริเวณสถานีรถไฟหนองตะไก้
นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีดำเนินโครงการมาโดยลำพัง ยังไม่มีแรงสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร เรื่องแรกอยากฝากถึงรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือนิคมฯในโครงการที่สอดคล้องนิคมฯ สนับสนุนนิคมฯให้มากขึ้น รวมถึงขอให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้รับสิทธิประโยชน์ (BOI) มากกว่าหรือเท่ากับผู้ประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) หรือให้รวมนิคมของเราเข้ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งนิคมฯอยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 50 กม.
ปัจจุบันมีคู่ค้าเข้ามาดูพื้นที่พอสมควร แต่ก็ติดปัญหาเรื่องของสิทธิประโยชน์ (BOI) นักลงทุนเขามองว่าเราด้อยกว่าประเทศเพื่อนในจุดนี้ แม้ว่าเราจะได้เปรียบในเรื่องของสถานที่ การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งทักษะของแรงงาน เราอยากให้ภาครัฐมองถึงประโยชน์ในอนาคต ปัจจุบันนิคมได้ BOI อยู่ 8 ปี แต่ผู้เช่าหรือนักลงทุนจะได้เพียง 3 หรือ 5 ปี หากเทียบกับประเทศเวียดนามเข้าให้ถึง 9 ปี รวมทั้งเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้อง เป็นจุดที่เราสู้เขาไม่ได้ หากปรับเปลี่ยนในเรื่องนี้ได้ จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาสนใจในพื้นที่มากขึ้น
นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฯรับทราบความคืบหน้ามาตลอด และให้ความสำคัญอย่างมาก ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนแล้ว เพื่อเป็นตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมที่ สร้างงานสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจขึ้นในภาคอีสาน ให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ท่านนายกได้สั่งให้มาดูว่าในพื้นที่โครงการ มีปัญหาอะไรหรือไม่ มีการกระทบสิ่งแวดล้อม กระทบกับชาวบ้านหรือไม่ ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ (BOI) จะเร่งผลักดันให้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นขยายสิทธิประโยชน์ หรือการรวมนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเข้ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทุกอย่างเป็นไปได้หมด อะไรที่เป็นประโยชน์รัฐบาลพร้อมจะสนับสนุน
ปัญหาที่พบในวันนี่คือเป็นเรื่องของพื้นที่ ถนนจุดเชื่อมเข้านิคม เส้นทางเข้านิคม ทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อกับนิคม ทางรัฐบบาลรับทราบแล้วและจะหาทางสนับสนุนงบประมาณลงมา อีกเรื่องที่เจอวันนี้คือบริเวณสถานีรถไฟหนองตะไก้ มีบริษัทเอกชนได้วางตู้คอนเทนเนอร์ไว้ในพื้นที่เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ของราชการ อยากเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศได้เร่งสั่งการให้มีการขนย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นเสียพื้นที่ใช้งาน และอาจจะกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่บดบังทัศนวิสัยของสถานี