อุดรธานีสั่งรับมือพายุลูกที่สอง ป้องศูนย์กลางเศรษฐกิจ ชุมชนที่อยู่อาศัย ลำดับความสำคัญประชาชน ติดเตียง ติดบ้าน เปาะบาง ท่ามกลางความเสี่ยงอ่างระบายน้ำออก ลำห้วยล้นตลิ่ง แม่น้ำโขงหนุน ทำน้ำระบายช้า ขณะนครอุดรธานียังปวดหัว “ห้วยหมากแข้งตัน” เอาเศษวัสดุก่อสร้างออกไม่หมดซักที
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธุ์ 2567 นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รอง ผวจ. ปฏิบัติราชการแทน ผวจ.อุดรธานี ในนามกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี มีหนังสือด่วนที่สุดถึง นายอำเภอ และ นายก อปท.ทุกแห่ง ให้ติดตามและเตรียมความพร้อม รับมือพายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ และกำลังทวีความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน จะขึ้นฝั่งตอนกลางของประเทศเวียดนาม ที่จะมีอิทธิพลทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายนที่จะถึงนี้ โดยให้ปฏิบัติการตามข้อสั่งการ และมาตรการของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชม.
ในการประชุมคณะทำงาน ติดตามสถานการณ์ และการบริหารจัดการน้ำ จ.อุดรธานี ให้เร่งระบายน้ำในลุ่มน้ำห้วยหลวง ที่มีสภาพล้นตลิ่งอยู่ 18 ซม. ให้ออกสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ให้มากและเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบย่านเศรษฐกิจ แต่หากการป้องกันไม่เป็นผล ให้เข้าช่วยเหลือประชาชน ลำดับความสำคัญ คน-บ้าน-สิ่งสาธารณูปโภค-พื้นที่เกษตร พร้อมให้ความช่วยเหลือ กลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน -ติดเตียง-เปาะบาง ตามบัญชีของ สสจ.อุดรธานี และ พมจ.อุดรธานี ที่ส่งให้ นอภ. และ รพ.สต.ไปแล้ว (ติดบ้าน 1.1 หมื่นคน , ติดเตียง 8 พันคน และเปาะบาง 3.6 หมื่นคน) โดยขณะนี้ย้ายผู้ป่วยติดเตียง 2 ราย ที่ บ.ท่าตูม ต.หมูม่น อ.เมือง และ อ.สร้างคอม
ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน อุดรธานีมีความพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วย+บาดเจ็บ ทางรถยนต์และทางอากาศ โดยมี ฮ.ปภ. , ฮ. บน.23 และ ฮ.กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี มีทีมบุคลากรมาตรฐาน ประกอบด้วย ทีมใหญ่ 17 คน มีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยสนับสนุน ทำงานภาคสนามได้ภายใน 6 ชม. และทำงานต่อเนื่องมากกว่า 72 ชม. 1 ทีม และทีมย่อย มีบุคลากรทางการแพทย์ 5-6 นาย/กลุ่ม สามารถ ดูแลชีพขั้นสูง ได้บนเครื่องบิน หรือรถยนต์ รวม 25 ทีม สำหรับ มรภ.อุดรธานี พร้อมสนับสนุนศูนย์อพยพ และครัวสนาม
สถานการณ์ “ลุ่มน้ำห้วยหลวง” อุดรธานีน่าเป็นห่วง จากพายุ “ยางิ”ผ่านไป ทำให้อ่างฯทุกแห่งน้ำเต็มความจุ หรือเกินเกณฑ์ ต้องล้นหรือต้องระบายออก ขณะที่ลำน้ำห้วยหลวง และลำน้ำสาขา ก็สูงกว่าตลิ่ง 18 ซม. วัดได้ที่สะพานบ้านท่าตูม ถ.มิตรภาพ ต.กุด สระ อ.เมือง ทำให้ต้องปัก “ธงแดง” โดยกระแสน้ำไหลลดลงเรื่อยๆ จากน้ำของแม่น้ำโขงหนุนสูง น้ำระบายลงสูงแม่น้ำโขงไม่ดี ดูได้จากประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง เคยระบายได้สูงสุดวันละ 35 ล้าน ลบม./วัน ช่วงก่อนพายุ “ยางิ” แต่ตอนนี้ระบายผ่านได้เพียง 9.6 ล้าน ลบม./วัน เท่านั้น หากฝนตกหนักน้ำจะหนุนเข้า “เมืองอุดรธานี” ไข่แดงย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ
ขณะในเขต ทน.อุดรธานี นายพรเทพ ศรีวรานันท์ โยธาธิการและผังเมืองอุดรธานี และนายอรรณพ วังศานุวัตร ผอ.ช่างสุขา ทน.อุดรธานี ลงตรวจสอบลำห้วยหมากแข้ง ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง พบเศษวัสดุปิดขวางทางไหลน้ำ บริเวณก่อนถึง สนง.สรรพสามิตร จ.อุดรธานี จึงขอให้ผู้รับเหมาเข้ามาแก้ไข แต่ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้ามาได้ กำลังพิจารณาหาทางออก อาจจะต้องใช้แรงงานคนทำ เพราะลำห้วยหมากแข้ง เป็นทางระบายน้ำหลักกว่า 70 % ซึ่งอิทธิพลของพายุ “ยางิ” ครั้งก่อน ก็เกิดน้ำท่วมขังเหนือ จุดนี้มาแล้ว นอกจากนี้ ทน.อุดรธานี ได้ระดมพนักงาน-ลูกจ้าง มากรอกกระสอบทรายที่ ศูนย์เครื่องจักรกล ทน.อุดรธานี หรือ รร.เทศบาล 6 เพื่อสำรองไว้ 1,000 ถุงในคืนนี้
ล่าสุดนายวรวิทย์ สุภาอ้วน ผอ.โครงการบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี ออกประกาศจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำ อ่างฯห้วยหลวงเพิ่มขึ้นจากวันละ 5 แสน ลบม. เป็น 2 ล้าน ลบม. ในวันที่ 19 ก.ย.67 และ 3 ล้าน ลบม.ในวันที่ 20 ก.ย.67 เพื่อรับมือกับพายุลูกใหม่ที่จะพัดเข้าประเทศเวียดนาม และจะส่งผลให้ฝนตกหนักในพื้นที่ โดยอ่างฯห้วยหลวงมีปริมาณน้ำ 108 ล้าน ลบม. หรือ 80.5 % ของความจุ หรือเหลือพื้นที่รับน้ำอีก 27.5 ล้าน ลบม. หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ประมวลวิเคราะห์ปริมาณน้ำ โทร-081-6619353 โดยโครงการจะรายงานสถานการณ์น้ำให้รับทราบเป็นระยะ…