เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2566 บริเวณบันไดทางขึ้นศาลากลาง จ.อุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี กลุ่มต่อต้านเหมืองแร่โพแทช นำโดยนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มฯ พร้อมแกนนำกลุ่ม และสมาชิกกลุ่มฯ มากกว่า 200 คน เดินทางมาพบนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือขอให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด แก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โพแทช ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านขัดแย้งกันมากขึ้น
นายฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เดินทางประสานให้ตัวแทนผู้ว่าฯ มาเป็นผู้รับหนังสือแทน เนื่องจากผู้ว่าฯติดภาระกิจสำคัญ ไม่สามารถเดินทางมาพบกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯปฏิเสธที่จะมอบหนังสือให้ตัวแทน โดยจะขอพบผู้ว่าฯคนเดียว เพราะที่ผ่านมาเคยมาหลายครั้ง ก็พบแต่เฉพาะตัวแทน จะรอผู้ว่าฯจนกว่าจะพบ วันนี้ได้เตรียมเครื่องครัว พร้อมนอนค้างคืนที่หน้าศาลากลางจังหวัดรอ
นางมณี บุญรอด และแกนนำอีกหลายคน ได้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย ถึงเหตุผลการคัดค้านเหมืองโพแทช ต่อเนื่องกันมากว่า 24 ปีแล้ว เคยฟ้องศาลปกครองไปแล้ว 1 ครั้ง ศาลมีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องทำตาม พรบ.แร่ ปี 60 หรือต้องกลับมาทำใหม่ แต่รัฐกลับออกสัมปทานให้ จึงฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง แต่ผู้รับสัมปทานยังคงเคลื่อนไหว จึงร้องขอให้ผู้ว่าฯดำเนินการ 3 ข้อ ระหว่างปราศรัย ชาวบ้านก็เตรียมข้าวเที่ยง ทำส้มตำแจกจ่าย กินกับอาหารที่เตรียมมา
นางมณีฯ ได้กล่าวเป็น “ผญา” ฝากถึงชาวเมืองอุดรธานีว่า “เมืองอุดรธานีเดิมทีก็ดีอยู ซูมื่อนี่ก็เป็นห้วยแล้วแม่เอ้ย ถ้าเขาขุดเกลือได่เป็นใหญ่คือหนองหาน แดนอีสานเป็นเมืองขอมจะจมลงพื้น ไผซิมาค่ำอีสานเราให้มันฮูง คันพี่น้องบ่ปกป้องซอยกั่น อันโพแทชนี่มีมาล้านปีก่อน เมืองอุดรวางนี่สุขขีค่ำกัวไผ บันนี้แล่วโตใหญ่จะเอาหนี คนอับปีจัญไรจะยาดเอาไปแล่วดี้ท่าน คนอีสานเป็นหยังน้อจึงบ่ซอย มีเพียงคนน้อยๆคอนต้านซิบ่ไหว เสียดายเด้เสียดายบ้านถินอีสานที่เคยอยู ซอยซูคอยค่ำจนเฮ้าได่ใหญ่สูง เหลือโตนลุงเหลือโตนป้าอาวอาซิตายส่ง ซุมหลานน้อยๆบ่เคยฮู้เรืองราว ยามน้ำเกลือจะมาท่วมเฮือนเฮาซิพามุน มีแต่ฝุ่นอ้อยต้อยโตข่อยสิอยูไส เหลือโตปลาในห้วยบ่อมีวังซิให่อยู เหลือควยบักตู้บ่มีหญ้าซิได่กิน สารเคมีเหล่านั้นซิไหลลั่งเข่ามาโฮม บ่ว่าลมซิวาฝนซิลังโฮมเข้ามาท้อน มาอ่อยซ้อยหลายเด้ท่านคนจันทานซิขายถิน ขายฮอดดินขายฮอดฟ้าซางฮาบ่อกินมัน ”
ต่อมานายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เดินทางมาเป็นตัวแทนผู้ว่าฯ เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ฯรู้ว่าผู้ว่าฯติดภาระกิจสำคัญ แต่ก็ต้องใช้เวลามากพอสมควรเพื่อทำความเข้าใจ เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ฯสอบถามอำนาจรองผู้ว่าฯมีแค่ไหน ถ้าไม่มีอำนาจก็จะรอพบผู้ว่าฯ ทำให้รองผู้ว่าฯขอดูข้อเรียกร้อง แล้วยืนยัน ว่าข้อเรียกร้องที่ 1 และ 2 สามาถดำเนินการได้เลย แต่ข้อเรียกร้องที่ 3 ไปเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จะต้องมีการหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยได้ให้กลุ่มอนุรักษ์ฯตัวแทนเข้าคุยในที่ประชุม
ในการประชุมที่ห้องพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ประธานการประชุม โดยมีนายฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ร่วมประชุมกับตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ 30 คน ซึ่งใช้เวลากว่า 1 ชม. จึงสามารถสรุปให้รองผู้ว่าฯรับหนังสือจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ แล้วลงบันทึกข้อตกลงท้ายหนังสือร้องเรียน ตามที่รองผู้ว่าฯเสนอ
ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯระบุว่า ระหว่างที่รอผลการฟ้องศาลปกครอง เอพีพีซี.ได้ส่งคนเข้าไปในพื้นที่ หว่านล้อมผู้ฟ้องคดีแต่ละราย (116 ราย) ด้วยการเสนอ ผลประโยชน์เป็นเงินให้ถอนฟ้องคดี โดยตัวแทน เอพีพีซี.เป็นธุระจัดทำเอกสาร และพาไปถอนฟ้องที่ศาลฯ มีผู้ฟ้องดำเนินการแล้ว 2 ราย , มีผู้อ้างตัวเป็นคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์โครงการ จัดสร้างแกนนำหมู่บ้านและจัดประชุม รับผลประโยชน์เพื่อไปสร้างเครือข่ายเพิ่มในหมู่บ้าน ถือเป็นการสร้างกระแสปลุกปั่น ให้เกิดความขัดแย้ง ที่ผ่านมาก็ขัดแย้งกันอยู่แล้วก็รุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี รับจะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง คือ 1.มีหนังสือถึง เอพีพีซี.ให้หยุดแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในศาลปกครอง ของชาวบ้านที่ร่วมกันฟ้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ รวมทั้งให้ยุติการยุแยง ปลุกปั่น , 2.มีหนังสือถึงคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์ เหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ให้ยุติการลงชี้แจงข้อมูลในพื้นที่ เนื่องจากคณะกรรมการไม่ใช่คนของผู้มีส่วนได้เสีย แต่เป็นคนของ เอพีพีซี. เรื่องนี้ดำเนินการได้ทันที
3.ขอให้ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีความเป็นกลาง เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหา โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี โดยมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน และตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์ฯร่วมด้วย โดยข้อนี้จะต้องมีการหารือว่าจะมีใครบ้าง จะเป็นหน่วยงานไหนบ้าง ฝ่ายที่เป็นกลางคือใคร ฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายต่อต้าน หรือฝ่ายอื่น ๆ จะมีสัดส่วนเท่าใด ….