ผอ.อุดรพิทย์ชี้แจงผู้ปกครอง ประกาศผลสอบเข้าห้องพิเศษ 2 รอบ เกิดจากคอมฯตรวจข้อมอบผิด ทำให้ 18 นร.ที่เคยสอบได้มาต้องอยู่ที่สำรอง อ้างระเบียบไม่สามารถเยี่ยวยาได้ ขณะผู้ปกครองไม่พอใจลูกไร้ที่เรียน บางคนสละสิทธิโรงเรียนดังไปแล้ว อาจจะต้องพึ่งศาลปกครอง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ห้องประชุม อาคารรัตนโกสินทร์ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ว่าที่ ร.ต.บรรจง มูลตรีแก้ว ผอ.รร.อุดรพิทยานุกูล นำคณะกรรมการสอบห้องเรียนพิเศษ ชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วยนายประวิทย์ จันดาวงศ์ รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระ ร่วมประชุมชี้แจงให้ผู้ปกครองนักเรียน 18 ราย สาเหตุการประกาศยกเลิกผลการสอบเข้าเรียนห้องเรียนพิเศษ (วิทย์-คณิต, ไอพี , และภาษาจีน) ชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2563 เนื่องจากตรวจข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษผิดพลาด และได้ตรวจใหม่และประกาศผลสอบครั้งที่ 2 ทำให้นักเรียนที่สอบได้ครั้งแรกไม่มีรายชื่อ มาทำความเข้าใจ
ว่าที่ ร.ต.บรรจง มูลตรีแก้ว ผอ.รร.อุดรพิทยานุกูล ชี้แจงว่า ขอโทษในเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยไม่มีเจตนา จึงได้เชิญผู้ปกครองเข้ามารับทราบความจริง ข้อเท็จจริง โดย ข้อสอบทั้งหมด โรงเรียนได้จ้างคณะครูจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งออกข้อสอบพร้อมเฉลยข้อสอบ โดยข้อสอบได้ส่งมาถึงโรงเรียนก่อน คณะกรรมการเป็นผู้นำเก็บและล๊อกประตู เมื่อสอบเสร็จคณะกรรมการจะเป็นผู้เก็บกระดาษคำตอบ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบจะนำกระดาษเฉลยคำตอบที่ถูกมาเข้าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจข้อสอบ โดยขณะตรวจข้อสอบ รวมคะแนนแบบรวม และประกาศผล แต่มีผู้ปกครองนักเรียนแจ้งว่าลูกสอบได้โรงเรียนดังในกรุงเทพฯ แต่ทำไมสอบเข้าโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลไม่ได้ จึงมาขอดูคะแนนรายวิชา
ผอ.โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ชี้แจงต่อว่า โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ จึงได้ให้เข้ามาตรวจสอบคะแนน พบว่าได้คะแนน 8 เต็ม 50 ซึ่งผิดปกติ จากนั้นก็มีผู้ปกครองนักเรียนมาขอดูอีกหลายราย และพบว่าเป็นเช่นเดียวกัน จึงได้สั่งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ พบว่าคณะกรรมการใส่แผ่นเฉลยคำตอบวิชาภาษาอังกฤษผิด ทำให้คะแนนผิดพลาด จึงได้ประกาศยกเลิกการประกาศผลสอบ และให้คณะกรรมการมาตรวจผลการสอบใหม่ จนแน่ใจว่าถูกต้อง ไม่ผิดพลาด จึงได้ออกประกาศผลสอบครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งนี้เชื่อมั่นว่าไม่ผิดพลาดแน่นอน ผลสอบอาจทำนักเรียน 18 คน ซึ่งเคยสอบได้วันประกาศผลสอบรอบแรก ได้ลำดับสำรอง ทำให้ผู้ปกครองไม่เข้าใจ หรือเสียใจ จึงได้เชิญผู้ปกครองมาฟังการชี้แจงข้อผิดพลาดในครั้งนี้
โรงเรียนขอรับผิดในเรื่องตรวจข้อสอบภาษาอังกฤษผิดพลาด เนื่องจากใส่กระดาษคำตอบผิด เมื่อรู้ว่าผิดก็ได้แก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ที่สอบได้คะแนนที่ถูกต้อง ส่วนการเยียวยาผู้ที่ต้องกลายเป็นตัวสำรองนั้นไม่มี ต้องรอสอบใหม่ในห้องเรียนปกติเท่านั้น จะให้นำนักเรียนทั้ง 18 คน ไปเข้าเรียนปกติเลยไม่ได้ เพราะไม่มีในระเบียบ หากโรงเรียนทำก็จะถือว่าเป็นการทุจริต ในบางครั้งการตรวจข้อสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เด็กนักเรียนบางคนอาจจะระบายรหัสวิชาไม่ถูก กระดาษก็จะเด้งออกมา คณะกรรมการได้เข้ามาระบายแก้ไขให้ใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือเด็กด้านคุณธรรม ไม่ได้ไประบายแก้ไขคำตอบวิชาต่างๆ ไม่ได้
หลังสิ้นสุดคำชี้แจง ผู้ปกครองนักเรียนท่านหนึ่งถามว่า ลูกมีชื่อสอบได้ในวันประกาศผลรอบแรก จึงได้ไปสละสิทธิ์ที่โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น และเลือกจะมารายงานตัวเข้าเรียนที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล แต่พอโรงเรียนยกเลิกประกาศผล ด้วยสาเหตุเกิดข้อผิดพลาดในการตรวจข้อสอบ ตนก็ยังมั่นใจว่าลูกจะสอบได้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของโรงเรียน แต่พอประกาศผลออกมา ลูกกลับมีชื่อเป็นตัวสำรอง ทำให้ลูกเสียโอกาส เสียความรู้สึก แล้วโรงเรียนจะเยียวยาอย่างไร ผู้ปกครองหญิงบางราย แจ้งว่าที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการทราบว่าโรงเรียนถูก หรือโรงเรียนผิด แต่อยากทราบว่าโรงเรียนจะดูแลนักเรียนที่ไม่มีที่เรียนแล้วอย่างไร เพราะนักเรียนได้สละสิทธิ์จากโรงเรียนเดิมแล้ว จะให้มานั่งรอให้ผู้ที่สอบได้ตัวจริงสละสิทธิ์ ไปบนบานศาลกล่าว แต่ถ้าไม่มีใครสละสิทธิ์ ลูกจะไปเรียนที่ไหน
นายสุริยา คำพันธ์ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม. 4 แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อโรงเรียนผิดพลาดไปแล้ว ยินดีที่จะรับทราบข้อผิดพลาดตรงนั้น แต่ขบวนการแก้ไขข้อผิดพลาด โรงเรียนกลับบอกว่าทำไม่ได้ เด็กที่สอบได้ที่สำรอง ถือว่าสอบผ่านมาแล้ว ท่านไม่มีวิสัยจะนำเด็กไปเรียนห้องปกติ อยากให้สอบถามผู้ปกครองว่า เด็กที่สอบผ่าน สคว.ไอพี นำไปเรียนห้องปกติเป็นการเยียวยาได้หรือไม่ จากนั้นผู้ปกครองได้เดินออกจากห้องประชุมไปด้วยความไม่พอใจ
นายนายสุริยา เปิดเผยว่า ไม่พอใจการแก้ไขในวันนี้ ขบวนการเรารู้ เรารับได้ มันผิดพลาดได้ เราก็ผิดพลาดได้ แต่อยากทราบว่าคนที่สอบได้แล้ว แต่กลับเป็นตัวสำรอง จะเยียวยาอย่างไร แต่โรงเรียนบอกว่าไม่สามารถทำได้ กลุ่มคนที่จะเยียวยามีเพียงไม่กี่คน บอกว่าไม่มีห้องเรียน ถามว่าเอาไปเรียนห้องปกติได้หรือไม่ นี่คือทางออกที่ดีที่สุด และมันจะผ่อนคลายความไม่เชื่อถือ และความไม่พอใจลงได้ โรงเรียนกระทำเช่นนี้ ผู้ปกครองสามารถไปฟ้องศาลปกครองได้ ซึ่งหลังจากนี้จะได้รวมกลุ่มคุยกับผู้ปกครองที่เดือดร้อน ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ว่าที่ ร.ต.บรรจง มูลตรีแก้ว ผอ.โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล เปิดเผยว่า โรงเรียนขอรับผิด และขอโทษผู้ปกครอง แต่เนื่องจากเพราะระบบคอมพิวเตอร์มันผิดพลาด ตนจึงต้องแก้ไขให้มันถูกต้อง แต่ไม่ได้มีเจตนา จึงเชิญผู้ปกครองมาชี้แจงข้อผิดพลาดให้ทราบ ซึ่งการผิดพลาดเช่นนี้มีทุกปี แต่ถ้าจะให้เยียวยาด้วยการนำนักเรียนที่สอบได้สำรอง ไปเรียนห้องเรียนปกติ ถือว่าผิดระเบียบ ไม่สามารถทำได้ ถ้าตนฝืนทำ ก็ผิดระเบียบ มีอย่างเดียวคือให้นักเรียนที่ติดสำรองไปสอบเข้าเรียนห้องปกติเท่านั้น ส่วนคณะกรรมการ เมื่อทำผิดพลาด ก็ต้องมีบทลงโทษด้วยการว่ากล่าวตักเตือน