เวทีศึกษา-ออกแบบ ทางต่างระดับ“แยกบ้านจั่น” พอใจมากขึ้นรูปแบบ 4 เป็นอุโมงค์ใต้ถนนมิตรภาพ ลอดสี่แยกและคลองป้องกันน้ำท่วม 1 กม. และทางข้ามสี่แยก-ข้ามรถไฟทางคู่-ลอดรถไฟความเร็วสูง 1 กม. รองประธานหอฯ ส.อบจ. ประสานเสียงให้แก้ไข แบบรถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง ให้ยกข้ามทางพาดรถไฟ
วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่ห้องประชุมสุพรรณิการ์ โรงแรมสยามแกรนด์ อ.เมือง อุดรธานี กรมทางหลวง จัดให้มีการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางแยกทางแยกต่างระดับ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2) โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 216 (แยกบ้านจั่น) อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่มีข้อจำกัด มีคลองป้องกันน้ำท่วมขนาดถนน 216 , มีทางพาดรถไฟห่างจากทางแยก 450 ม. และเป็นเขตนิรภัยการบิน (จำกัดความสูง)
นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนพัฒนาให้อุดรธานี เป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) โครงการนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก ต้องพัฒนาเป็นการเร่งด่วน จากความแออัดของรถในปัจจุบัน และอนาคตอีกไม่กี่ปี การลงทุนรถไฟจากจีนมาเวียงจันทร์ จะทำให้มีรถผ่านบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากจีนมาถึง สปป.ลาว จะถูกขนด้วยรถขามมาที่ จ.หนองคาย และส่งต่อผ่าน จ.อุดรธานี หรือสินค้าจากไทยจะขนผ่าน จ.อุดรธานี ไป จ.หนองคาย และข้ามไป สปป.ลาว เพื่อส่งต่อไปจีนโดยใช้เวลาเพียง 1 วัน
นายฐิฎิกรณ์ อภิบุญสุวรรณ วิศวกรฯ บ.ที่ปรึกษาโครงการฯ นำเสนอรูปแบบทางต่างระดับ 3 รูปแบบ (รูปแบบตามเอกสาร) ที่เคยนำเสนอแล้วในกลุ่มย่อย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ได้นำเสนอรูปแบบที่ 4 (รูปแบบไม่มีในเอกสารแจก) ที่ได้รับการตอบรับมากขึ้น ที่มีลักษณะคล้ายรูปแบบที่ 1 คือ สร้างอุโมงค์บนถนนมิตรภาพลอด 4 แยก ลอดคลองป้องกันน้ำท่วม จึงมีความลึกและความลดชัน มากกว่าอุโมงค์แยกบายพาตอุดร-หนองคาย ทำให้อุโมงค์จะมีความยาว 900-1,000 ม. (ในเขตนครอุดรฯจะใช้พื้นที่ฟุตบาท)
“ สร้างทางข้ามบนถนน 216 ข้าม 4 แยกฮอนด้าในระดับชั้น 2 (ต่ำกว่าแบบที่ 1) ข้ามทางรถไฟทางคู่ และลอดรถไฟความเร็วสูง ความยาว 1,000-1,100 ม. โดยทางข้ามนี้จะมีทางขึ้นและทางลงเพิ่ม เป็นทางขึ้นสำหรับรถที่มาจาก 4 แยกฮอนด้า และทางลงสำหรับรถ มาจากแยกบิ๊กซี จะมุ่งหน้าไปบริเวณ 4 แยกฮอนด้า พร้อมกันนี้จะมีการก่อสร้าง ทางลอดทางรถไฟสำหรับรถขนาดเล็กทั้ง 2 ด้าน อาทิ รถยนต์เล็ก-สามล้อ-จยย.-จักรยาน-ประชาชน ซึ่งจะต้องใช้งบมากขึ้น 3 เท่า และเวลาก่อสร้างกว่า 3 ปี”
นายชัยฤทธิ์ เขาวงษ์ทอง ส.อบจ.อุดรธานี กล่าวว่า ในการประชุมกลุ่มย่อยครั้งก่อน ตนเองและสื่อมวลชนท้องถิ่น ตั้งข้อสังเกตทำไมทางพาดรถไฟ รถไฟรางคู่ออแบบอยู่บนพื้น แต่ทำไมรถไฟความเร็วสูงออกแบบยกสูงขึ้น และขอให้ที่ปรึกษาช่วยนำเสนอร่าง ทางยกระดับเพิ่มเติมพิเศษ โดยสมมุติว่ารถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ถูกยกระดับขึ้นไปแล้ว รูปแบบทางต่างระดับบ้านจั่นจะออกมาอย่างไร เผื่อว่าชาวอุดรฯจะนำไปขอผู้มีอำนาจ รวมไปถึงขอให้ “ลุงตู่” แก้ไขให้ แต่ที่ปรึกษาไม่ได้ออกแบบให้
“ หากมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และทางต่างระดับแยกบ้านจั่น ตามรูปแบบที่มีการนำเสนอ จะเป็นรูปแบบแรกในประเทศไทย ที่จะต้องอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน อาจจะต้องอยู่กับเรานับร้อยปี การสูญเสียพลังงานรถขึ้นทางต่างระดับ หรือมลพิษที่เกิดจากการเร่งเครื่อง ตลอดจนบนริบทสังคมใช้เส้นทางนี้ รูปแบบนี้ยังไม่มีการก่อสร้าง ก็จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เชื่อว่าที่ปรึกษาไม่มีปัญหา แต่ขอคำแนะนำเราไปทำอย่างไรได้บ้าง ฝากที่ปรึกษาด้วย ”
นายสุวัฒน์ วิไลงาม รองประธานหอการค้า จ.อุดรธานี กล่าวว่า รูปแบบที่นำเสนอก็น่าจะพอในรูปแบบ 4 ที่จะทำความพึงพอใจได้บ้าง แต่ความพึ่งใจมากที่สุดยังไม่ใช่ เรายังอยากเห็นรูปแบบที่ 5 ที่หอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และองค์กรเอกชนอุดรธานี ยืนยันมาตลอดว่า “รถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง” ต้องยกระดับข้ามนครอุดรธานี รูปแบบบริเวณทางพาดรถไฟบ้านจั่น จึงผิดไปจากเจตนาของภาคเอกชน และได้นำเรื่องนี้เข้า กรอ.อุดรธานีไปแล้ว เพื่อทบทวนโครงการในภาพรวม เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวอุดรธานี
นายฐิฎิกรณ์ อภิบุญสุวรรณ วิศวกรฯ บ.ที่ปรึกษาโครงการฯ ตอบคำถามปิดท้ายว่า ที่ปรึกษาได้นำเสนอรูปแบบ ทางต่างระดับแยกบ้านจั่น ตามข้อมูลพื้นที่ของทุกหน่วยงาน ทำให้ต้องออกแบบตามที่รถไฟทางคู่ศึกษาไว้ ซึ่งก็ผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนมาแล้ว ทำให้ต้องใช้ข้อมูลส่วนนั้น ขณะรถไฟความเร็วสูง อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ทำให้มีการประสานแก้ไขกันอยู่ แต่ก็ต้องประสานต่อเนื่อง และยอมรับว่าเมื่อยังไม่มีการก่อสร้าง ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างกรณีที่ จ.ขอนแก่น ก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ต้องอยู่กับผู้มีอำนาจ กรมทางหลวงพร้อมปรับแก้ได้….