อธิการฯ มรภ.อุดร นำคณะแถลงแก้ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ร้องสอบ U2T+ BCG ทำผู้บริหารรวยผิดปกติ ว่าเป็นข้อมูลผิด-ไม่ครบ เจตนาทำลายองค์กร คนร้องทบทวนตกเป็นเครื่องมือ ประกาศพร้อมรับตรวจสอบ ขณะรองฯยันมีหนี้เพิ่มจนปกติ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผศ.คณิศรา ธันสุนทรสกุล อธิการบดี มรภ.อุดรธานี ผศ.ชาติชาย ม่วงปฐม (ซ้ายสุด) นายเอกราช ดีนาง (คนที่สองจากซ้าย) รองอธิการบดี นายพิเชษฐ์ แย้มโคกสูง นิติกร (ขวาสุด) ร่วมแถลงข่าวกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ร้องเรียนและให้สัมภาษณ์ ขอให้ตรวจสอบโครงการมหาลัยสู่ตำบล (U2T) และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ของ มรภ.อุดรธานี ต่อเนื่องกับข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ มรภ.อุดรธานี ถูกเข้าใจผิด
ผศ.คณิศรา ธันสุนทรสกุล อธิการบดี มรภ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้มาทบทวนข่าวสารที่ออกมา พบว่าผู้นำข้อมูลไปให้ผู้ร้องเรียน เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาก เป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จะด้วยเจตนาอะไรไม่ทราบ ที่แบ่งออกได้หลายประเด็น ทุกประเด็นได้รายงานต่อสภามหาวิทยาลัยฯ ประกอบด้วย ผู้ร้องระบุว่าเราได้รับงบ U2T และ BCG รวม 1,400 ล้านบาท ซึ่งข้อเท็จจริงคือในปี 2564 ได้รับงบ U2T 473 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับงบ 117 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถานการณ์โควิด-19 จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปี 2566 เป็นงบ BCG เป็นงบกลาง 500 ล้านบาท ตัวเลขน่าจะไม่ถูกต้อง
โครงการ U2T เป็นงบฯจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไม่สามารถหักค่าดำเนินการเข้ามหาวิทยาลัยได้ หากเบิกจ่ายได้ไม่หมดต้องคืนงบฯให้ อว. ซึ่งในปี 2564 คืนไป 28.89 ล้านบาท
ปี 2565 คืนไป 2.7 ล้านบาท ส่วนโครงการ BCG เป็นงบกลาง ที่เม็ดเงินไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย การเบิกจ่ายต้องผ่านกรมบัญชีกลางโดยตรง เงินไม่ได้ผ่านในระบบของมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนนี้ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ จึงเป็นไปไม่ได้ว่าผู้บริหารจะยักยอก หรือนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน
ประเด็นเมื่อเช้าวันนี้ เรื่องการแจ้งให้ข้าราชการเกษียณ มาทำหน้าที่ในการบริหาร และเป็นอาจารย์ผู้สอนในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน ขอชี้แจงว่าในการจ้างบุคคลากรภายนอก มานั่งในตำแหน่งบริหารมีระเบียบรอบรับ ซึ่งในตำแหน่งรองอธิการบดีตามที่กล่าวอ้าง จะเป็นการแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย ในทางปฏิบัติคือ อธิการบดีจะเสนอชื่อรองอธิการบดี ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาเห็นชอบ และกรณีนี้ก็ผ่านความเห็นชอบแล้ว รวมทั้งการมอบภาระการสอนให้ก็ไม่ขัดกับระเบียบ กรณีนี้ผู้นำข้อมูลไปให้ผู้ร้อง “ไม่ครบถ้วน” ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ประเด็ดถัดมาบอกว่า ผู้บริหารคนดังกล่าว ดำเนินโครงการ U2T 18 และ 4 โครงการมีพิรุท ช่วงนั้นตนเองเป็นรองอธิการบดี ได้เข้ามาดูแล U2T เช่นเดียวกัน ผู้บริหารให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะเกิดในช่วงสถานการโควิด-19 อยากให้ใช้งบมีประสิทธิภาพมากที่สุด คณะผู้บริหารฯเห็นตรงกันว่า ให้กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เข้ามาเป็นกลไกลในการหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ 230 ตำบล จึงมีคำสั่งแต่งตั้งลงไปติดตาม ว่าโครงการเป็นไปตามความมุ่งหวังหรือไม่ จึงเป็นการไม่ได้หยิบยกความจริงมาทั้งหมด
นายพิเชษฐ์ แย้มโคกสูง นิติกร ชี้แจงประเด็น ผู้บริหารท่านเดิมรับแต่งตั้งกำกับดูแล การออกและผลิตข้อสอบครูผู้ช่วย ว่า เป็น 1 ในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่รายงานผลสอบเบื้องต้นให้สภาฯไปแล้ว ว่ามีความบกพร่องจริง จากสาเหตุการขาดความเชี่ยวชาญ ไม่ได้ออกและผลิตข้อสอบมานาน เป็นแต่เพียงการจัดสถานที่สอบเท่านั้น ประกอบกับมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่เร่งรัด จนต้องจัดให้การการสอบใหม่บางส่วน และได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น ผู้ขอให้จัดการออกและผลิตข้อสอบ ได้มอบค่าใช้จ่ายตามที่ตกลง 3.4 ล้านบาทแล้ว ในส่วนนี้ได้นำไปใช้ชดเชยเยียวยา การเลื่อนการสอบบางส่วนราว 4 แสนบาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ และผลการสอบสวนได้รายงานให้อธิการบดีเพื่อพิจารณาแล้ว
นายเอกราช ดีนาง รองอธิการบดี กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาไม่ได้มีชื่อตนเอง แต่ลูกศรก็ชี้มาเพราะเป็นผู้ดูแล โครงการ U2T และ BCG ถูกกล่าวว่ารวยผิดปกติ ปลดหนี้สหกรณ์-ซื้อบ้านใหม่-ซื้อรถหรู-ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งความจริงไม่ได้รวยแต่มีหนี้เพิ่ม จากนโยบายของธนาคารเรื่องรวมหนี้ จึงเพิ่มเงินกู้ที่มีอยู่แล้วกับธนาคาร เอาไปปลดหนี้ออกจากสหกรณ์ฯ เอาหนี้มาไว้ที่เดียวผ่อนชำระเดือนละ 19,000 บาท และผ่อนมา 3 ปีแล้ว , ได้ขายรถยนต์ 2 คันเอาไปดาว์นรถใหม่ยี่ห้อมาสด้า ยังมีภาระผ่อ นชำระอยู่ทุกเดือน และการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ไม่ได้ไปเรียนแบบถาวร แต่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน 10 เดือน มิถุนายนนี้ก็กลับมาแล้ว
ผศ.คณิศรา ธันสุนทรสกุล อธิการบดี มรภ.อุดรธานี อีกประเด็นคือ การเลือกปฏิบัติประเมินผลงานทางวิชาการ เมื่อต้องการหรือไม่ต้องการให้ใครผ่าน ก็ส่งผลงานไปให้ผู้ตรวจประเมินที่ผ่านยากหรือง่าย ถือเป็นข้อกล่าวหาของผู้ให้ข้อมูล เพราะเรามีระเบียบและกระบวนการชัดเจน ไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ตามความต้องการ แต่อยู่ภายในใต้มาตรการของหน่วยงานภาครัฐ ที่กำหนดขั้นตอน ที่มีมาตรฐานเอาไว้ ผู้บริหารฯไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณา รวมทั้งที่สุดแล้วก็ต้องส่งให้กระทรวง อว.พิจารณา
อธิการบดี มรภ.อุดรธานี กล่าวสรุปตอนท้าย 3 ประเด็นว่า 1.บุคคลที่เอาข้อมูลไม่จริง หรือบิดข้อมูลบางส่วนไปให้ผู้ร้อง เพื่อจงใจอะไรบางอย่าง ก็อยากจะบอกท่านว่า ท่านได้รับเงินเดือนของแผ่นดิน เงินของมหาวิทยาลัย ในช่วงโครงการ U2T ท่านได้เสียสละลงไปทำงานเพื่อช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนในช่วงโควิด-19 หรือไม่ หรือท่านนั่งๆนอนๆรับเงินเดือน ตอนนี้ท่านทำหน้าที่หยิบยกข้อมูล ที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง หรือข้อมูลเพียงบางส่วน ท่านกำลังทำร้ายองค์กร ทำร้ายนักศึกษา ทำร้ายบุคคบากร ที่มีความศรัทธา-เชื่อมั่น ในสถาบันที่กำลังหลักพัฒนาจังหวัดและพื้นที่
2.สำหรับผู้ร้องที่ได้รับข้อไม่ครบถ้วน เป็นข้อมูลเพียงส่วนหนึ่ง ขอให้ท่านนำข้อมูลที่เราได้แถลงวันนี้ กลับไปพิจารณาว่าท่านจะเป็นเครื่องมือของผู้ให้ข้อมูลหรือไม่ และ 3.องค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบมหาวิทยาลัย เรามีความยินดีให้ท่านเข้ามาตรวจสอบ โดยทุกอย่างที่เราได้ดำเนินการ ได้รายงานให้กับสภามหาวิทยาลัย และถูกบันทึกไว้หมดแล้ว เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ข้อมูลที่แถลงในวันนี้คือข้อมูลเดียวกันที่รายงานสภาฯไป รวมไปถึงข้อมูลที่รายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง …..