รพ.สนามอุดรพร้อม ใช้ทันทีที่ หอ มรภ.อุดร (สามพร้าว) 218 ห้องๆละ 2 สำหรับผู้ป่วยไม่สูงอายุ ไม่มีอาการป่วย แห่งที่สอง “เสี่ยต้อย” ยกคลังสินค้ายักษ์ใหม่เอี่ยม ใหญ่กว่าสนามฟุตบอล เอาไว้สำรองรับการระบาดหนัก ขณะเตียงใน รพ.ศูนย์-ชุมชน ยังรับมือได้
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จว.อุดรธานี นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สสจ.อุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี พญ.ศรีสุดา ทรงธรรมวัฒน์ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.ศูนย์อุดรธานี นายธีระภัทร ผิวสวัสดิ์ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี และคณะ เดินทางดูการเตรียมการณ์จัดตั้ง “ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง
แห่งแรกที่อาคาร “คลังสินค้ายักษ์” ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง อ.เมือง นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธาน บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี อนุญาตให้ทางราชการใช้ ในการจัดทำ รพ.สนามโดยไม่คิดมูลค่า ได้นำเข้าดูอาคารกว้าง 70 ม. ยาว 130 เมตร พื้นที่ 9,100 ตรม. ซึ่งใหญ่กว่าสนามฟุตบอล สร้างเสร็จยังไม่ได้ใช้งาน และยังมีอาคารขนาดใกล้เคียงกัน ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 อาคาร ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชุมชนมาก และอยู่บนถนนคู่ขนานทางรถไฟ ห่างจากถนนมิตรภาพ 2 กม. และยังมีพื้นที่จอดรถมีหลังคา
แห่งที่สองเป็นหอพักชาย 3 ชั้น 2 อาคาร มีรั้วรอบ ใน มรภ.อุดรธานี (สามพร้าว) อ.เมือง รศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดี มรภ.อุดรธานี พร้อมคณาจารย์ นำดูพื้นที่อาคารหลังแรก ที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยไม่มีอาการ 218 ห้อง ส่วนอาคารอีกหลัง ใช้เฉพาะชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นอาคารอำนวยการ และห้องพักบุคคลากรทางการแพทย์ 16 ห้อง ทั้งสองอาคารมีกล้องวงจรปิด และสัญญาอินเตอร์เน็ท แต่ละห้องมีเตียง 2 ชั้น 2 ชุด โต๊ะหนังสือ-ตู้เสื้อผ้า 4 ชุด พัดลมเพดาน 2 ตัว ติดมุ้งลวดระบายอากาศได้ดี มีห้องน้ำและห้องส้วมแยกจากกัน
คณะทำงานได้จัดห้องตัวอย่าง 1 ห้องเข้าพักรักษาห้องละ 2 คน พร้อมเครื่องนอน หมอน ผ้าปูที่นอน และอุปกรณ์ของใช้ประจำตัว ผ้าเช็ดตัว ไม้แขวนเสื้อ สบู่ ยาสีฟัน แปรสีฟัน ชมพูสระผม ผงซักฟอก น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย ใส่ไว้ในกะละมังขนาดกลาง โดยคณะแพทย์เข้าพิจารณา ตรวจสอบไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ในห้องน้ำ ซึ่ง ผวจ.อุดรธานี ได้ทดสอบด้วยตัวเอง รวมทั้งการทดลองนอนที่เตียงชั้นล่าง แล้วบอกว่า “นอนแล้วนึกถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย ก็ต้องอยู่หอพักลักษณะนี้”
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า อุดรธานีได้กำหนดแผนไว้แล้ว ว่าในการตรวจรักษาก็จะมี รพ.ศูนย์อุดรธานีเป็นหลัก รองลงมาก็เป็นโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาลก่อน ขณะที่โรงพยาบาลเองก็มีพื้นที่สำรอง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขของ รพ.เอกชน จนถึงระดับหนึ่งจึงจะออกมาใช้ รพ.สนาม โดยจะใช้หอพักของ มรภ.อุดรธานีก่อน ซึ่งมีการจัดทำแผนปฏิบัติไว้แล้ว มรภ.อุดรธานี พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้จังหวัด แต่ทางโรงพยาบาลยังมีเตียงรองรับอยู่ ส่วนอาคารคลังสินค้าในนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่สำรองระดับต่อไป ได้สั่งให้ ปภ.บรรจุแผนปฏิบัติการไว้เลย ขอบคุณความเมตตาจากเอกชน
“ จังหวัดหาสถานที่ตามที่ขอมา ซึ่งก็จัดหาพื้นที่ไว้หลายแห่ง รวมทั้งในระดับอำเภอ แต่ผู้ใช้งานคือแพทย์-พยาบาล จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ ซึ่งผู้จะใช้งานเห็นแล้วก็พอใจ คณะมาดูพื้นที่ทุกคนก็อุ่นใจ โดยจังหวัดจะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้เตรียมความพร้อมไว้ในที่ตั้ง เมื่อถึงเวลาสามารถสนับสนุนได้ทันที รวมทั้งอุปกรณ์บางอย่างจะส่งจากส่วนกลาง อาทิ เตียงกระดาษ ส่วยนกลางจะส่งมาให้ภายใน 2 วันเมืองเราร้องขอไป ”
นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สสจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ตอนนี้โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และ รพ.ชุมชน ยังสามารถรับผู้ป่วยได้อยู่ เตียงที่เตรียมไว้มีอีกพอสมควร ยังไม่จำเป็นต้องย้ายมาที่ รพ.สนาม แต่เราได้จัดแผนกันไว้ก่อน คือจะมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ มาประจำอยู่ 1 ทีมใหญ่ เมื่อจำเป็นต้องใช้ รพ.สนาม ผู้ป่วยที่จะมาต้องคัดกรองก่อน จะไม่ใช่ผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ลักษณะรอการกลับบ้าน และจะเป็นการทยอยออกมา ขณะที่วันนี้มีผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่เราจะต้องเฝ้าระวังพ้นหยุดสงกรานต์ คนที่เดินทางกลับมา เราจะเข้าถึงตัวไม่เกิน 24 ชม. ….