ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 หมอกควันยังคมปกคลุมทั่วทั้งจังหวัด เกินกว่าค่ามาตรฐาน PM 2.5 มาตั้งแต่หัวค่ำวันจันทร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยในเช้าวันนี้ airvisual รายงานว่าคุณภาพอากาศ จ.อุดรธานีทำสถิติใหม่ เมื่อเวลา 07.00 น. PM 2.5 มีค่าสูงถึง 165.5 ไมโครกรัมต่อ ลบม. หรือเกินมาตรฐานถึง 3.3 เท่า ทำให้เทศบาลนครอุดรธานี สั่งเปิดน้ำพุตามจุดต่างๆ และนำรถดับเพลิงไปฉีดน้ำในย่านเศรษฐกิจ ขณะที่ สนง.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย นำรถพ่นละอองน้ำไปฉีดพ่นที่สนามทุ่งศรีเมือง และหนองประจักษ์ศิลปาคม (07.00 น.วันที่ 15 มีนาคม 2562 ค่า PM 2.5 เท่ากับ 59 ไมโครกรัม-ลบม.)
เวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี พร้อมกับนายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี และนางกุลยดา ทอนมณี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.)อุดรธานี ร่วมกันชี้แจงสถานการณ์คุณภาพอากาศ พร้อมมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ ไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก
นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีได้ออกมาตรการป้องกัน มาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ เฝ้าระวังโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย 40 แห่ง , ควันดำรถยนต์โดยสาร-รถบรรทุก , ฝุ่นจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการเผาต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์-ป่าสงวน , พื้นที่ป่าและเกษตรกรรม , พื้นที่ของชุมชนหมู่บ้าน และพื้นที่ริมทาง สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ 8 มีนาคม-ปัจจุบัน จึงสั่งการให้เพิ่มความเข้มขึ้นอีก และให้ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นในอากาศ โดยวันนี้เริ่มในเขต ทน.อุดรธานี และจะขยายออกไปในทุกพื้นที่
นางกุลยดา ทอนมณี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ทสจ.อุดรธานี กล่าวว่า ทางราชการมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ จ.ขอนแก่น และ จ.เลย ทำให้ จ.อุดรธานี ต้องเอาตัวเลขของ 2 จังหวัดมาแปลผล กับข้อมูลของดาวเทียมจีสด้า พบว่ามีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ทั้งอุดรธานี ในวันที่ 11-12-13 ส่วนวันนี้ยังต้องรอผล และตั้งแต่วันที่ 11-13 มีนาคม พบว่าใน จ.อุดรธานี พบฮอตสปอตเกิดขึ้น 111 จุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่ทิศทางลมพัดมาจาก จ.ขอนแก่น และ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีจุดกำเนินควันหรือออตสปอตมากกว่า จ.อุดรธานี ทำให้อุดรธานี เป็นทั้งแหล่งกำเนิดควัน และรองรับควันจากพื้นที่อื่นด้วย
นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีไม่มีสถานีตรวจคุณภาพอากาศ ขณะที่มีการนำตัวเลขจากเครื่องตรวจขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีการกำหนรดมาตรฐาน มาแจ้งผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเรื่องนี้ทุกวันศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี จะจัดทำรายงานคุณภาพอากาศของ จ.อุดรธานี อ้างอิงจากข้อมูลของ airvisual ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” และข้อแนะนำกลุ่มเสี่ยง เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ให้อยู่ในอาคาร ดื่มน้ำมากๆ เลี่ยงกิจกรรมการแจ้ง สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยู่กลางแจ้งต้องสวมหน้ากากอนามัย
นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ต้นกำเนิดของหมอกควัน เกิดจากไฟไหม้พื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะไร่อ้อย ป่ารกร้าง พื้นที่ริมทาง และอื่นๆ มาตรการต่างๆประกาศไปแล้ว ยอมรับว่ายังไม่ดำเนินการตามกฎหมาย กับการเผาไร่อ้อยในพื้นที่ จากนี้ไปก็จะเพิ่มความเข้มตรวจโรงงาน-รถควันดำ-พื้นที่ก่อสร้าง ขณะที่การเผาจะเร่งรณรงค์ ทำความเข้าใจกับชาวไร่ มากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย และสั่งการให้ อปท.ทุกแห่งจัดชุดเฉพาะกิจ เข้าดับไฟในทุกจุดที่เกิดขึ้นทันที หรือจำกัดวงไม่ให้ขยายออกไป
“ ทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาการเผาอ้อย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลก็ตั้งเป้าปีนี้ ให้มีการอ้อยเผาเข้าโรงงานไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ มีมาตรการหักเงินจากอ้อยเผาไปให้อ้อยสด บางโรงงานเพิ่มเงินพิเศษให้อ้อยสดอีก และให้นำอ้อยสดเข้าโรงงานไม่ต้องติดคิว แต่ก็ไม่ทำให้ชาวไร่หยุดการเผา เพราะประชุมครั้งล่าสุดบอกว่ามีอ้อยเผา 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว และขณะนี้ก็เร่งตัดอ้อยส่งก่อนปิดหีบ จึงจะมีการประชุมเร็วๆนี้ ว่าจะมีมาตรการเร่งด่วน หรือขยายเวลาปิดหีบไปอีกหรือไม่ เพื่อลดแรงกดดันเร่งตัดอ้อย และระยะยาวปีหน้ากันอย่างไร มาตรการจูงใจต้องมากขึ้นกว่านี้ ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถิติการส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2562 พบว่ามี “อ้อยเผาสูงมาก” โดย 4 โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ จ.อุดรธานี รับอ้อยสด 10,485 ตัน รับอ้อยเผา 57,197 ตัน ขณะที่มีโรงงานน้ำตาลรอบ จ.อุดรธานี 3 โรง รับอ้อยสด 16,139 ตัน รับอ้อยเผา 56,116 ตัน หรือเท่ากับว่าในภาคอีสานตอนบน มีอ้อยถูกเผาส่งโรงงานน้ำตาลวันละประมาณ 113,000 ตัน….