อ้อยไฟไหม้อุดรจอดรอใกล้เน่า 1,200 พันคัน มูลค่า 54 ล้านบาท ส่งเข้าโรงงานไม่ได้ ติดกฎเหล็กห้ามโรงงานรับอ้อยไฟไหม้เกิน 25 % ชาวไร่ต่อรองขอเพิ่มเป็น 40 % หมดแล้วจะเข้ากติกาแต่ไม่ได้ ผู้ว่าฯเจรจาต่อรองอีกรอบ หีบอ้อยไฟไหม้ 1,200 คันให้หมด ต่อไปปีนี้ส่งเฉพาะอ้อยตัดสดเท่านั้น
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุม(ด่วน) การจัดการปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น ละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่เกษตรกรรมและนาข้าว โดยมีนายพิสิษฐ์ชัย อภัยปิยกุล รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำนายอำเภอ ,ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ,อุตสาหกรรม ,เกษตรสหกรณ์ ,หน่วยงานภาครัฐเกี่ยวข้อง ,ผู้แทนโรงงานน้ำตาล และผู้แทนสมาคมชาวไร่อ้อยฯ จาก 3 โรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานี ประกอบด้วย รง.น้ำตาลไทยอุดรธานี อ.บ้านผือ , โรงงานน้ำตาลเกษตรผล อ.กุมภวาปี และโรงน้ำตาลเริ่มอุดม อ.หนองหาน เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออก การส่งอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน เกินกว่าปริมาณที่นโยบายกำหนด
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี แจ้งว่า วันสองวันที่ผ่านมาได้รับแจ้ง จากผู้หลักผู้ใหญ่ในส่วนกลางหลายท่าน มีความเป็นห่วงเป็นใยเรื่องการส่งอ้อยไฟไหม้ เข้าโรงงานน้ำตาลเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เกินกว่ามาตรฐาน ไปกระทบกับสุขภาพประชาชน และจะส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นนโยบายรัฐบาล และเมื่อวานนี้รับแจ้งว่า มีชาวไร่อ้อย และสถาบันชาวไร่อ้อย ออกมาเคลื่อนไหวขอให้แก้ไขปัญหา “อ้อยไฟไหม้ตกค้าง” และจะขอส่งอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน เกินกว่าสัดส่วนที่นโยบายกำหนดไว้ ทั้งสองส่วนมีความสำคัญ โดยขอรับฟังปัญหาทั้งหมด และร่วมหาทางออกไปด้วยกัน
โดยหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย , อุตสาหกรรม , เกษตรสหกรณ์ , ปฏิรูปที่ดิน และหน่วยที่เกี่ยวข้อง รายงานสรุปว่า อุดรธานีประกาศห้ามเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร มีผลไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.2568 ปีนี้ส่วนกลางนโยบายกำหนดให้ คุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน (สีส้ม) ต้องลดลงจากปีที่แล้ว 5 % คือ 56 วัน ซึ่งปีนี้เกินไปแล้ว 10 วัน นอกจากนี้ยังกำหนดลดการเผาพื้นที่ป่า 25 % , นาข้าว 30 % , อ้อย 17 % และข้าวโพด 10 % ล่าสุดกำหนดแนวทางบริหารการเผาในพื้นที่จำเป็น มีระเบียบและหลักเกณฑ์ 6 ข้อ ขณะในปีนี้ตรวจพบจุดฮอตสปอตสูงสุดที่ อ.วังสามหมอ 47 ครั้ง , ไชยวาน 32 ครั้ง , กุมภวาปี 30 ครั้ง , บ้านผือ 18 ครั้ง เกิดขึ้นมากที่สุด คือ นาข้าว 107 ครั้ง , ไร่อ้อย 57 ครั้ง และป่า 10 ครั้ง
โรงงานน้ำตาลทรายขาวในพื้นที่ จ.อุดรธานี มี 3 โรง คือ ไทยอุดรธานี อ.บ้านผือ , เกษตรผล อ.กุมภวาปี และ เริ่มอุดม อ.หนองหาน อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกตรวจติดตาม ไม่พบประเด็นที่กระทำผิดกฏหมาย แต่มีประเด็นที่ให้คำแนะนำแก้ไข+ปรับปรุงทั้ง 3 โรง โดยจะตรวจวัดคุณภาพอากาศที่โรงงาน เริ่มในวันที่ 24 ม.ค.2568 พร้อมรายงานการหีบอ้อยปีนี้ว่า อ้อย ไฟไหม้ รง.น้ำตาลไทยอุดรธานีหีบ 43 % , รง.น้ำตาลเกษตรผลหีบ 23 % และ รง.น้ำตาลเริ่มอุดม 24 % รวมทั้งจังหวัดหีบไปแล้ว 1.4 ล้านตัน เป็นอ้อยไฟไหม้ 6.8 แสนตัน หรือ 32.5 %
นายผดุงศักดิ์ ชัยรุ่งเรืองสิน ผอ.ฝ่ายสายการผลิต โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี อ.บ้านผือ กล่าวว่า โรงงานเปิดมาไม่นานราว 15 ปี ยังขาดความพร้อมการใช้เครื่องจักร ยังจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา ขณะชาวไร่อ้อยเป็นรายเล็ก ต้องใช้แรงงานในการตัดอ้อย ประสบปัญหาแรงงานขาด และต้นทุนการตัดสูง จากนโยบายหีบอ้อยไฟไหม้ไม่เกินวันละ 25 % ทำให้ในช่วงปีใหม่ต่อเนื่องมา มีอ้อยไฟไหม้ตกค้างถูกขนมาเต็มลาน และออกไปอยู่ตามถนนรวมกว่า 1,200 คัน อ้อยเหล่านี้มีเวลา 72 ชม.จะต้องส่งเข้าโรงงาน เพราะสุ่มเสียงเป็นเชื้อรา และความหวานต่ำกว่า 6 ซีซีเอส. โรงงานไม่สามารถรับซื้อได้ หากจะหีบอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างตามนโยยาย 25 % ต้องใช้เวลาเกินกว่า 5-6 วัน
นายวรพจน์ บุรุษภักดี เลขาฯสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ กล่าวว่า อ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างอยู่ 1,200 คัน มีมูลค่ามากกว่า 54 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของชาวไร่อ้อย ส่วนใหญ่คือชาวไร่อ้อยรายย่อย ที่ไม่มีเครื่องจักรไปทำงาน ที่ตกค้างมาตั้งแต่ปีใหม่ อีกไม่กี่วันก็เสียหายจะต้องทิ้ง วันนี้ตัวแทนของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เดินทางมาที่โรงงาน เราได้ไปเจรจายื่นข้อเสนอ ให้โรงงานหีบอ้อยไฟไหม้ 40 % ซึ่งจะทำให้อ้อยตกค้างหมดใน 3-5 วัน จากนั้นรถที่เอาอ้อยไฟไหม้มาส่ง จะต้องกลับไปเอาอ้อยนสดมาส่งโรงงานเท่านั้น เมื่ออ้อยนไฟไหม้หมดทั้ง 1,200 คัน ต่อไปก็จะใช้สัดส่วนตามนโยบาย แต่คณะทำงานฯประสานไปส่วนกลาง ไม่ยอมรับข้อเสนอของชาวไร่อ้อย จึงต้องมาพึ่งผู้ว่าฯ
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้ขอให้ทุกฝ่ายในห้องประชุม เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ยกประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ อ้อยไฟไหม้ที่ตกค้าง 1,200 คัน หากไม่ถูกส่งเข้าโรงงานชาวไร่จะรับผลกระทบ และอนาคตข้างหน้าเรื่องอ้อยไฟไหม้จะทำอย่างไร ทุกฝ่ายทั้งชาวไร่ และโรงงาน ต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้ทางราชการหาทางที่เหมาะสมได้ โดยมีการนำเสนอหลายทางออก จนในที่สุดมาสรุปที่ “จะเสนอให้นำอ้อยไฟไหม้ตกค้าง 1,200 คัน มูลค่า 54 ล้านบาท เข้าหีบในโรงงานวันละ 40 % หลังจากหีบทั้งหมดแล้ว อ้อยชุดใหม่จะต้องเป็นอ้อยสดเท่านั้น ชาวไร่จะไม่ส่งอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานอีกในปีนี้ โดยจะส่งข้อสรุปให้ส่วนกลางพิจารณา….