ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ช่วงเช้าของวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ลานรับซื้ออ้อย โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ ได้นำเต็นท์ เครื่องขยายเสียง มาติดตั้งเพื่อชี้แจงและให้กำลังใจชาวไร่อ้อย ที่ไม่สามารถนำอ้อยเข้าโรงงานได้ หรืออ้อยติดคิว ทำให้มีรถบรรทุกขนอ้อยตกค้างมากกว่า 1,200 คัน มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่โรงงานมีประกาศรับซื้ออ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด มีคณะกรรมการสมาคมฯ และชาวไร่ในพื้นที่ที่อ้อยติดคิว ผลัดเปลี่ยนกันพูดผ่านเครื่องขยายเสียง ระบายความเดือดร้อน
โดยนำป้ายผ้าเขียนข้อความ เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา เนื่องจากมองว่านโยบายรับซื้ออ้อยสด 75% อ้อยไฟไหม้ 25% เป็นการมัดมือชก กะทันหัน ทำให้อ้อยตกค้างอยู่หน้าลานรับซื้อ ซึ่งหากไม่มีการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ชุดนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายจากอ้อยเน่า และคุณภาพความหวานลดลง ซึ่งวานนี้สมาคมฯ ได้ไปยื่นหนังสือต่อ สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ในฐานะเลขาฯคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่นเขต 10 อุดรธานี ผ่านไปยังประธานคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่นเขต 10 อุดรธานี (นายราชันต์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี) ขอทำการหีบอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างในลาน รงน้ำตาลไทยอุดรธานี เบื้องต้นทาง จ.อุดรธานี ได้นัดหมายให้มีการประชุมด่วนบ่ายวันนี้
นายอดิศักดิ์ พรรคพล รองเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือไทยอุดรบ้านผือ ผู้แทนชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ตอนนี้มีอ้อยไฟไหม้ติดคิวมากกว่า 1,200 คัน เราก็ต้องเข้าใจทางโรงงานที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ทางสมาคมฯเองก็ได้มีการเข้ายื่นหนังสือเพื่อแก้ไขปัญหานี้แล้ว ซึ่งมีการสั่งประชุมด่วนในช่วง 15.00 น. วันนี้ ถือว่ามีความมั่นใจว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหา ส่วนตัวคิดว่าจะสามารถนำอ้อยเข้าโรงงานได้ทั้งหมด ถ้าไม่มั่นใจก็คงจะเดินหน้าเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้
“จริงๆวันนี้ว่าจะใส่เสื้อสีดำ เพื่อไว้ทุกข์ให้โยบายของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหากรรม ผมถือว่าเป็นความรับผิดของรัฐมนตรี ยังไม่ได้มองภาพรวมของรัฐบาล วันนี้เครียมตัวว่าจะมาด่าให้มากที่สุด แต่ก็ต้องขอเงียบไว้ก่อน เพราะต้องเข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่หลายท่าน เดี๋ยวจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็จะขอเป็นฝ่ายบุ๋น เพราะฝ่ายบู๊มีเยอะแล้ว และหากว่ามันหนักมากกว่านี้ ก็อยากจะถามชาวไร่อ้อยทุกท่านว่า พร้อมจะปิดถนนกันหรือไม่”
นายอุดม วงษ์เคน อายุ 71 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ ให้ข้อมูลว่า เราเองก็พร้อมทำตามนโยบาย แต่รถบรรทุกของเราถูกขังไว้ในนี้ เพราะเป็นอ้อยที่ถูกไฟไหม้ เขาไม่รับซื้อ อ้อยสดเราก็ตัดไว้แล้ว แต่ไม่มีรถไปขน จะให้เราทำอย่างไร ปัญหาการเผาอ้อยเกิดในกระบวนการการตัดอ้อย เนื่องจากพนักงานตัดอ้อยไม่อยากตัดอ้อยสด เพราะรายได้น้อย ขนาดเราให้อ้อยสดตันละ 200 บาท เขาก็ไม่เอา เขาไม่พอกิน ถามว่าเราเองทำได้มั้ยก็ทำไม่ได้ เพราะเราแก่แล้ว
“นโยบายรับซื้ออ้อยไฟไหม้ 25% ทำให้เราเดือดร้อนมาก เขาหักดิบเราเลย ไม่มีการเตือน เรารับมือไม่ทัน ผลลัพท์ก็เป็นอย่างที่เห็น ตนต้องมาติดอยู่ที่นี่นานกว่า 3 วันแล้ว รถต้องติดอยู่ในนี้ เราอยากให้ระบายรถในส่วนนี้ออกก่อนได้หรือไม่ เราไม่มีรถไปขนอ้อย ส่วนโยบายช่วยหลือลดการเผาอ้อยไร่ละ 1 พัน ตนมองว่ามันไม่คุ้ม การตัดอ้อยสดมีต้นทุนมากกว่านั้น หากรัฐบาลอยากจะช่วยจริงๆ อยากให้ช่วยผลักดันอ้อยสดให้ถึงตัน 200 บาท ยังจะดีกว่า น่าจะอยู่ได้”
ขณะที่นางธัญรดา โชคดี อายุ 47 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ ให้ข้อมูลกลางวงพูดคุยว่า ตนเป็นโควตาน้อย เป็นเกษตรกรรายเล็ก ยอมรับว่าจำเป็นต้องทำอ้อยไฟไหม้ เพราะไม่มีคนงาน หากทำอ้อยสดคนงานมาทำงานได้แค่ 2 คน ตัดยังไงมันจะถึง 1 คันรถ อันที่เผาไปแล้ว ก็ยังต้องมาติดอยู่ในนี้ หากใช้นโยบายรับอ้อยสด คนที่มีทุนน้อย เงินน้อย จะอยู่ยังไง ใครจะไปตัดอ้อยได้เร็วขนาดนั้น อุตสาหกรรมอ้อยถือเป็นอาชีพหลักของชาวไร่อีสาน คิดน้อยใจ สส.อยู่บ้าง มาหาเสียงก็บอกจะช่วยเหลือ ตอนนี้ก็อยากเห็นการมีปากเสียงในสภาบ้าง ช่วยเหลือกันบ้าง อยากให้ลงมาดูแลกันบ้าง