โรงไฟฟ้าขยะ ทน.อุดรธานี ร่วมมือไทยซูริกเครือเมโท สร้างเสร็จสมบูรณ์ไปต่อไม่ได้ เหตุช้ากว่าสัญญา กกพ.ไม่ขยายเวลา แม้จะเป็นช่วงระบาดโควิด-19 ผู้ตรวจสำนักนายกฯชวนจับเข่าคุยออนไลน์ แต่ กกพ.ยังกระต่ายขาเดียว ขยายเวลาให้ไม่ได้ แนะเริ่มยืนขอใหม่ ในราคาไฟฟ้าถูกกว่า ท่ามกลางการเมืองแทรก
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้า โครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยการผลิตไฟฟ้า (โรงไฟฟ้าขยะ ทน.อุดรธานี) ผ่านการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์ กับนายสารัฐ ประกอบชาติ รอง ผอ.สนง.นโยบายและแผนพลังงาน , น.ส.อ้อวดี สุนทรวิภาค ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ที่นำท้องถิ่นจังหวัด ที่ดินจังหวัด พลังงานจังหวัด , ทน.อุดรธานี และ อบต.หนองนาคำ อ.เมือง อุดรธานี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมคำชะโนด ศาลากลาง จ.อุดรธานี
นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีประเด็นปัญหาความเดือดร้อน สิ่งแวดล้อม และโรงไฟฟ้า ซึ่งฝ่ายเลขาฯรายงานว่า ในการมาตรวจราชการที่ จ.อุดรธานี ( 11 มี.ค.67) รับทราบปัญหา ทน.อุดรธานี ร่วมกับ บ.ไทยซูริก เอนเนจี้ จก. ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ บริเวณติดกับศูนย์จัดการขยะ ทน.อุดรธานี ต.หนองนาคำ อ.เมือง อุดรธานี ด้วยกำลังผลิต 9.6 เม็กกะวัตต์ เป็นการใช้ในโรงงาน 1.6 เม็กกะวัตต์ และขายให้ภาครัฐ 8 เม็กกะวัตต์ สัญญา 25 ปี ขณะนี้ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าระบบ “ไพโดรไรซีส” เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ติดปัญหา สนง.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ได้ขยายเวลาสัญญาการขายไฟฟ้าให้ ขอให้ กกพ.ทบทวน
“ 9 เม.ย.67 ผู้ตรวจฯมีหนังสือสอบถามไปถึง กกพ. ได้รับคำตอบกลับมา 30 พ.ค.67 ว่าทำตามกรอบซื้อไฟฟ้าจากเอกชน การขยายเวลาต้องทำตามมติ พ.ค.60 ต้องเป็นไปเพราะเหตุสุดวิสัย โดยไม่ขายเวลาให้โรงไฟฟ้าขยะ ทน.อุดรธานี ทำให้ บ.ไทยซูริกฯคู่สัญญา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลบปกครอง อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่กระทรวงมหาดไทยได้หารือไปยังกระทรวงพลังงาน ประเด็นการขยายเวลาสัญญา นอกจากนี้ผู้ตรวจฯยังรายงานไปยังรองนายกฯ (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อเสร้างความเชื่อมั่นกับการลงทุน ซึ่งรองนายกฯเห็นชอบให้ดำเนินการ
นายอรรณพ วังสานุวัตต์ ผอ.สำนักสุขาภิบาล ทน.อุดรธานี ชี้แจงว่า มีความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนและสิ่งแวดล้อม ทั้งในความรับผิดชอบของ ทน.อุดรธานี และ บ.ไทยซูริก กรณีฝุ่นดินเกิดจากรถขยะ , กลิ่นจากขยะที่ตกค้าง และคุณภาพน้ำทิ้ง ได้ดำเนินการไปแล้ว และมีการตรวจสอบต่อเนื่อง ส่วนปัญหาถนนชำรุดมาก ทน.อุดรธานี ได้เตรียมงบประมาณเพื่อซ่อมแซมแล้ว อยู่ระหว่างการขอทำงานนอกพื้นที่ ยังติดอยู่ที่มีบางส่วน บ.ไทยซูริกฯต้องดำเนินการ หากขั้นตอนแล้วเสร็จจะดำ เนินการได้ทันที ส่วนเรื่องการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ “โคกหนองหาด” อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จากประชาชนในพื้นที่ ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี แล้วให้ บ.ไทยซูริกฯ ชี้แจงเรื่องโรงไฟฟ้าระบุว่า การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่สามารถขายไฟฟ้าให้ภาครัฐได้
นายสารัฐ ประกอบชาติ รอง ผอ.สนง.นโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า กกพ.ตอบสนองนโยบายแก้ปัญหาขยะ เอามาเป็นพลังงานตามกรอบชัดเจน มีโรงไฟฟ้าขยะในช่วงแรกเร่งด่วน 11 โรง (31 ธ.ค.64) มีโรงไฟฟ้าขยะ 5 โรง ดำเนินการตามสัญญา มี 6 โรงทำไม่ทันตามสัญญา กกพ.ได้ออกระเบียบเพื่อขยายเวลา สามารถผ่านการพิจารณาไป 2 โรง อีก 4 โรงไม่ผ่านรวมทั้งโรงไฟฟ้าขยะ ทน.อุดรธานี นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กกพ.ยืนยันทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่สามารถขยายเวลาให้ได้ ขณะที่มีการเปิดรับโรงไฟฟ้าขยะเข้าเพิ่ม จากกรอบซื้อไฟฟ้าจากขยะ 400 เม็กกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะ 4 โรงที่ไม่ได้รับการขยายเวลา สามารถมาขอรับในโควตานี้ได้ แต่ราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะลดลง
น.ส.อ้อวดี สุนทร วิภาค ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สอบถามและให้ความเห็นว่า โรงไฟฟ้าขยะ ทน.อุดรธานี และอีก 3 โรง ไม่ได้รับการขยายเวลา สามารถเสนอให้ กกพ.พิจารณาได้เลยหรือไม่ ไม่ต้องย้อนกลับไปทำตามขั้นตอนใหม่ เพราะได้ผ่านขั้นตอนต่างๆมาหมดแล้ว และจะได้รับสิทธิขายไฟฟ้าทันที่หรือไม่ เพราะโควตารัฐซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ 400 เม็กกะวัตต์ แม้จะทำสัญญาไปแล้ว 200 เม็กกะวัตต์เศษ แต่ก็มีผู้ประกอบการยื่นเรืองไว้รวมมากกว่า 400 เม็กกะวัตต์ กลุ่ม 4 โรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วมีสิทธิพิเศษหรือไม่
นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปว่า น่าจะมีช่องทางการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งกรณีการร้องศาลปกครองที่จะนาน ช่องทางเอกชน+อปท.เปลี่ยนมายื่นขอขายไฟฟ้าใหม่ โดยให้กระทรวงพลังงานกลับไปพิจารณา เรื่องราคารับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขยะใหม่ ตามที่ภาครัฐมีนโยบายไว้แล้ว ว่าราคาต่อหน่วยจะเท่าไหร่ , ให้ ก.มหาดไทยประสานแผนงานกับ องค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้ประกอบการภาคเอกชน จะไปในช่องทางไหน , ให้จังหวัดเร่งรัดการใช้ที่ดินของรัฐโคกหนองหาด รวมทั้งเรื่องของ อีไอเอ.-กฎหมายป่าไม้-การขอทำกิจการนอเขต-การรับฟังความคิดเห็น รายงานให้ตนเองรับทราบเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้…