เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ชลประทาน จ.อุดรธานี แจ้งการเปิดประตูระบายน้ำของ อ่างเก็บน้ำงหลักของอุดรธานี ที่จะทำให้ระดับน้ำใน “ลำห้วยหลวง” สูงขึ้นขอให้ประชาชนอาศัยอยู่ใน “ลุ่มน้ำห้วยหลวง” เฝ้าระวังยกของขึ้นที่สูง ประกอบไปด้วย อ่างฯห้วยหลวง ระบายน้ำ 7 แสน ลบม./วัน , อ่างฯหนองสำโรง ระบายน้ำ 2.7 ล้าน ลบม./ วัน และอ่างฯบ้านจั่น ระบายน้ำ 6 แสน ลบม./วัน รวมแล้วจะระบายน้ำรวม 4 ล้าน ลบม.ต่อวัน
โดยที่อ่างฯห้วยหลวง นายสุนทร คำศรีเมือง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง พร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ จนต้องตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำ 20 เซนติเมตร 1 บาน และเปิดประตูคลองชลประทานทั้ง 2 แห่ง เพื่อไม่ให้พื้นที่การเกษตรบริเวณท้ายอ่าง ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากระบายน้ำในอ่างฯออกไปทีเดียวในปริมาณมาก ๆ และเป็นการบริหารการจัดการน้ำให้เหมาะสม ทำให้ชาวบ้านมาจับปลาบริเวณหน้าประตูระบายน้ำ
ขณะที่ประตูระบายน้ำแก้มลิงบ้านหัวขัว ต.เมืองเพีย อ.กุดจับ ก็เปิดประตูระบายน้ำ 1 บาน สูง 50 ซ.ม. รองรับน้ำที่ระบายจากอ่างฯห้วยหลวง ที่อยู่ห่างกันประมาณ 7 กม. ก่อนไหลผ่านพื้นที่เศรษฐกิจ อ.เมือง อุดรธานี ไปยังประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง ที่ต้องเปิดประตูทั้ง 4 บาน โดยมีเจ้าหน้าที่ สนง.ชป.ที่ 5 อุดรธานี เร่งติดตั้งเครื่องพลักดันน้ำ 4 เครื่อง เพื่อช่วยพลักดันมวลน้ำลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำต่ำกว่าห้วยหลวงประมาณ 1 เมตร
นายสุนทร คำศรีเมือง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง เปิดเผยว่า มีฝนตกลงในอ่างฯและเหนืออ่างฯ ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างฯถึง 32 ล้าน ลบม.ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณน้ำพุ่งขึ้นถึง 125 ล้าน ลบ.ม. หรือ 92 เปอร์เซ็นต์ ของความจุอ่าง ทั้งที่ปกติน้ำในอ่างฯมีเฉลี่ย 60 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้มากถึง 125 ล้าน ลบ.ม. เมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว ได้ยกประตูระบายน้ำขึ้น 20 ซม. 1 บาน พร้อมทำหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว
“ ก่อนหน้าคาดการณ์ไว้ว่าปีนี้ จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือภัยแล้งที่ยาวนาน เราต้องเก็บน้ำไว้ในอ่างฯให้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูแล้ง รวมทั้งน้ำอุปโภคบริโภค หล่อเลี้ยงเมืองอุดรธานี และคาดว่ากลางเดือนตุลาฯ ปริมาณน้ำคงจะมีเต็มเขื่อนพอดี ส่วนการพร่องน้ำออกจากอ่างในขณะนี้ เพื่อให้เกษตรกรตามลำห้วยหลวง และในตัวเมืองอุดรธานี ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ”….