อ่างฯ-ประตูน้ำ-ลำห้วย รอบเมืองอุดรธานีน้ำล้น ยกเว้นอ่างฯห้วยหลวง ล่าสุดอ่างฯกุดลิงง้อล้นรอบหลายปี ทำเอาเมืองอุดรธานีเฝ้าระวัง ไม่ต่างกับเจ้าสาวกลัวฝนต
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562 ว่าหลังจากฝนไม่ตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งลำน้ำห้วยหลวง ที่เข้าท่วมบ้านเรือน ถนน พื้นที่การเกษตร ระดับน้ำลดลงจากช่วงเช้า-เย็นรวม 3 ซม. โดยวัดได้ที่ประตูระบายน้ำ บ.สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี ในระดับ 100 ซม.เหนือตอม่อ รวมสองวันลดลงมาแล้ว 6 ซม. แม้ฝนไม่ตกลงมาเพิ่ม ก็ยังจะต้องใช้เวลาอีกนาน
ขณะที่ สนง.ชลประทานอุดรธานี รายงานว่า ในลุ่มน้ำห้วยหลวงมีเพียงอ่างฯห้วยหลวง ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีก โดยความจุ 135.6 ล้าน ลบม. เก็บน้ำไว้แล้ว 90.2 ล้าน ลบม. หรือ 66.51 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประตูระบายน้ำ และอ่างฯ มีน้ำอยู่เต็มความจุหมดแล้ว ล่าสุดที่อ่างฯกุดลิงง้อ ความจุ 6.4 ล้าน ลบม.แต่ขณะนี้มีน้ำ 6.5 ล้าน ลบม. ส่วนอ่างฯอื่นมาก่อนหน้าแล้ว
เริ่มจากอ่างฯบ้านจั่น ความจุ 4.4 ล้าน ลบม. มีน้ำอยู่แล้ว 5.7 ล้าน ลบม. , อ่างฯลำป่าค้าว ความจุ 0.4 ล้าน ลบม. มีน้ำอยู่แล้ว 0.5 ล้าน ลบม. , อ่างฯหนองนามน บ.หัวขัว อ.กุดจับ เปิดประตูระบายน้ำ 1 บานสูง 80 ซม. และอ่างฯหนองสำโรง เปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด หากมี “พายุ” ก่อตัวและพัดเข้ามาอีก และทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำฝนทั้งหมดจะไหลลงลำห้วยหวงทั้งหมด ทำให้เมืองอุดรธานีขณะนี้มีสภาพ “เจ้าสาวกลัวฝน”
บ่ายวันเดียวกัน ที่อ่างฯกุดลิงง้อ ต.นาดี อ.เมือง จ.อุดรธานี อ่างฯเก็บน้ำเก่าแก่อุดรธานี เขื่อนดินเดิมสร้างด้วยแรงงานคน เหตุน้ำท่วมใหญ่เมืองอุดรธานี ปี 43 และ 44 น้ำไหลล้นปลินเวย์จำนวนมาก ไหลข้ามถนนวงแหวนตะวันตก เป็นน้ำป่าเข้าท่วมเขต ทน.อุดรธานี ต่อมาได้ปรับปรุงเพิ่มความจุเป็น 6.4 ล้าน ลบม. และสร้างคลองระบายน้ำรอบเมือง ระบายน้ำอ้อมเมืองไปลงที่อ่างฯหนองสำโรง จากนั้นอ่างฯกุดลิงง้อมีน้ำล้นไม่กี่ครั้ง
โดยในปีนี้กรมชลประทาน ได้อนุมัติงบประมาณหลายส่วน เข้ามาพัฒนาให้อ่างฯกุดลิงง้อ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวนวัติวิถี แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ด้วยการกำจัดวัชพืชลอยน้ำ (จอกหูหนูยักษ์) นำขึ้นมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสด , การปรับปรุงถนนสันเขื่อนดิน ถนนขนานคลองส่งน้ำ และปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ซึ่งขณะนี้เริ่มมีประชาชนในพื้นที่ และใกล้เคียง เดินทางมาพักผ่อนกันบ้างแล้ว