น้ำในลำห้วยหลวงเริ่มทรงตัว ในระดับล้นตลิ่งสูง ไหลลงแม่น้ำโขงช้าๆ หวั่นฝนตกซ้ำรอย จะทำให้น้ำท่วมแรมเดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 ถึงสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง “ลำน้ำห้วยหลวง” แม้จะมีฝนตกลงมาไม่มาก แต่น้ำยังมีระดับสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงเช้า และเริ่มทรวงตัวในช่วงบ่าย ทำให้น้ำยังท่วมบ้านเรือน ถนน พื้นที่การเกษตร เป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะใน อ.เมือง ก่อนไหลผ่าน อ.เพ็ญ , พิบูลย์รักษ์ , บ้านดุง , สร้างคอม และไหลลงน้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
น้ำที่ยังสะสมในหลายพื้นที่ ได้ไหลลงอ่างฯห้วยหลวง , อ่างฯกุดลิงง้อ และอ่างฯลำปลาค้าว สามารถเก็บสะสมน้ำได้อีก ส่วนอ่างฯที่ล้นต้องระบายออก คืออ่างฯบ้านจั่น น้ำล้นสปลินเวย์วันละ 1.3 ล้าน ลบม. , อ่างฯหนองนามลเปิดประตู 1 บานสูง 80 ซม. , อ่างฯหนองสำโรงเปิดประตูทุกบาน นอกจากนี้ยังมีน้ำไหลจากหลายลำห้วยสาขา อาทิ ลำห้วยขุ่น , ลำห้วยดาน ทำให้ระดับที่ประตูระบายน้ำ บ.สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง สูงขึ้นช่วงเที่ยง 1 ซม. สูงกว่าตอม่อ 106 ซม. (เช้าวันที่ 14 ก.ย.62 ลดลง 4 ซม.)
นายอภิชาต ชุมนุมวาปี ผอ.โครงการชลประทาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากและต่อเนื่อง ทำให้สภาพของลำน้ำห้วยหลวงตอนนี้ ไหลล้นตลิ่งและเคลื่อนไปช้าๆ โดยเราพยายามกักน้ำไว้ด้านบน ที่กักไม่ได้ที่อ่างฯบ้านจั่น ระดับน้ำก็เริ่มทรงตัวแล้ว น่าจะลดการระบายลงเรื่อยๆ ส่วนที่หนองนามลลดการระบายแล้ว และเร่งระบายน้ำไปลงน้ำโขงเร็วที่สุด โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง ที่ประตูน้ำบ้านสามพร้าว พร้อมร้องขอส่งมาช่วยอีก จนมาถึงวันนี้น้ำเริ่มจะทรงตัว ห่วงฝนจะตกลงมาหนักอีก
“ ที่ปากน้ำห้วยหลวงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ระดับน้ำโขงต่ำกว่าระดับน้ำในลำห้วยมากกว่า 2 เมตร น้ำสามารรถระบายออกไปได้ดี แต่น้ำด้านบนที่ จ.อุดรธานี กลับมีสภาพเหมือนดันกันอยู่ เพราะน้ำแผ่วงกว่างออกไปมาก จึงเร่งสำรวจจากปลายน้ำขึ้นมา ว่าจุดไหนเป็นอุปสรรคการระบาย ก็ไปดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือกันดี ทั้งนี้ยอมรับว่าสภาพน้ำล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำห้วยหลวง อาจจะใช้เวลาท่วมขังนานกว่า 1 เดือน ”